นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมาและในสหภาพยุโรป รวมถึงกรณีการตกแต่งบัญชีของบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศ (กรณี Enron Worldcom) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการกำกับดูแลผู้สอบบัญชี จากเดิมซึ่งเป็นระบบที่ให้ผู้ประกอบวิชาชีพกำกับดูแลกันเอง มาเป็นการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดโดยหน่วยงานทางการที่เป็นอิสระจากผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งตลาดทุนไทยก็จำเป็นต้องพัฒนาไปในแนวทางเดียวกัน
ดังนั้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีให้เข้มข้นขึ้นตามมาตรฐานสากล โดยเน้นการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีทั้งกระบวนการ จนปัจจุบัน ก.ล.ต. ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีในตลาดทุน ทั้งจากสหภาพยุโรป ธนาคารโลก ก.ล.ต.นานาชาติ (International Organization of Securities Commissions: IOSCO) และ ก.ล.ต. ในอาเซียน
นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก International Forum of Independent Audit Regulator (IFIAR) ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่กำกับดูแลผู้สอบบัญชี และเป็นสมาชิกของ ASEAN Audit Regulators Group อีกด้วย
สำหรับการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีนั้น ก.ล.ต. ได้กำหนดให้ผู้สอบบัญชีบริษัทในตลาดทุนต้องสังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่มีระบบควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชี และ ก.ล.ต. มีแผนที่จะตรวจคุณภาพงานสอบบัญชีของสำนักงานสอบบัญชีทั้งหมด 26 แห่งภายในปี 2555 ซึ่งปัจจุบันเสร็จสิ้นแล้ว 22 แห่ง พบว่า สำนักงานสอบบัญชีส่วนใหญ่มีความตั้งใจโดยได้ทุ่มเททรัพยากรอย่างเต็มที่ในการพัฒนาและปรับปรุงระบบงาน โดยทุกแห่งมีการวางระบบการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ แม้ว่าการปฏิบัติในบางเรื่องอาจยังต้องปรับปรุงเนื่องจากมาตรฐานดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่ นอกจากนี้ พบว่า ด้วยระบบควบคุมคุณภาพที่ได้มาตรฐานทำให้งานสอบบัญชีโดยรวมมีคุณภาพมากขึ้นด้วย
“การที่ ก.ล.ต. กำกับดูแลผู้สอบบัญชีให้เข้มข้นตามมาตรฐานสากลได้นี้ ทำให้องค์กรนานาชาติให้การยอมรับระบบการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีในตลาดทุนไทย ทำให้การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทไทยเป็นที่น่าเชื่อถือและช่วยให้การระดมทุนในต่างประเทศสามารถทำได้สะดวกขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ต้องการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ในสหภาพยุโรปสามารถใช้ผู้สอบบัญชีของไทยได้โดยผู้สอบบัญชีไม่ต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศนั้นอีก ความเชื่อมั่นที่มาจากการปฏิบัติและการกำกับดูแลที่ได้มาตรฐานสากลนี้นำมาซึ่งการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตลาดทุนและประเทศโดยรวม" นายวรพล กล่าว