PTT เผยมีนโยบาย Corporate Down Sizing ตัดการลงทุนที่ไม่จำเป็น-ซ้ำซ้อน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 20, 2012 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีนโยบายการ Corporate Down Sizing ในทุกๆ บริษัทในเครือ ปตท.เพื่อตัดการลงทุนไม่จำเป็น เช่น บริษัทที่เคยลงทุนในอดีตแล้วไม่มีการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน หรือบริษัทที่มีการขาดทุนจากการลงทุน หรือบริษัทที่มีความซ้ำซ้อนกันที่เกิดในระหว่างที่มีการควบรวมกิจการบริษัทในเครือเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะทำให้กลุ่ม ปตท.มีความคล่องตัวในการดำเนินกิจการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคตภายใต้ระบบการค้าเสรีต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจต่างๆ ในโลก

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะตรวจสอบดูว่าบริษัทใดที่เป็นบริษัทขนาดเล็ก หรือดำเนินธุรกิจที่ไม่ใหญ่มากนัก สามารถที่จะควบรวมกิจการกันได้หรือไม่ หรือมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะดำเนินกิจการต่อไป

ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน PTT กล่าวว่า ปัจจุบัน กลุ่ม ปตท.มีบริษัทในเครือกว่า 200 บริษัท แต่มีประมาณ 30 บริษัทที่เคยไปลงทุนในประเทศต่างๆ เมื่อ 20 ปีก่อน แต่ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินธุรกิจหรือมีธุรกิจที่ซ้ำซ้อนกัน ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศมาเลเซีย จีน และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ทั้งนี้ นายสุรงค์ ได้ยกตัวอย่าง บริษัทร่วมทุนที่จะต้องเข้าไปพิจารณา เช่น Keloil-PTT sdn.Bhd. ในประเทศมาเลเซีย ที่ ปตท.ถือหุ้นอยู่ 40% เดิมมีแผนจะนำก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG)ที่นำเข้ามาในประเทศไทยไปจำหน่ายทางตือนเหนือของมาเลเซีย แต่หลังจากที่มีการดำเนินงานมาได้สักพักหนึ่ง ประเทศไทยก็ไม่มี LPG เหลือส่งออกอีก และยังต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น เพราะความต้องการใช้ภายในประเทศสูงขึ้น ทำให้บริษัทดังกล่าวไม่สามารถที่จะดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปตท.จึงกำลังพิจารณาว่าจะถอนหุ้นออกมาหรือดำเนินการอย่างไรต่อไป

ส่วนที่ประเทศจีนก็มีการลงทุนทั้งในธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน และธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ จำนวนมาก เช่น PetroAsia ในเมืองต่างๆ นอกจากนี้ยังมีบริษัทในเครือของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC) ซึ่งมีบริษัทในเครือจำนวนมากที่มีการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนกันหลังจากมีการควบรวมกิจการแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ