PTT ดันอีกรอบตั้ง Sovereign Fund ลงทุนแหล่งปิโตรเลียมในต่างประเทศ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 20, 2012 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP)เพียงผู้เดียวคงไม่สามารถเป็นผู้ลงทุนจัดหาแหล่งพลังงานสำรองให้กับประเทศได้ทั้งหมด จึงอาจจะให้ PTT เข้าไปเป็นผู้ลงทุน หรือรัฐบาล โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานในไทยเข้าไปลงทุน อาจจะมีการตั้ง Sovereign Fund เพื่อเข้าไปถือหุ้นในแหล่งปิโตรเลียมต่างๆ เหมือนในต่างประเทศทำอยู่ โดยอาจใช้เงินทุนสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีการสำรองเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐเปลี่ยนไปเก็บสำรองเป็นทรัพย์สินอื่น เช่น พลังงาน เป็นต้น

บริษัทฯ จึงได้วางกลยุทธ์ให้ PTTEP เข้าไปลงทุนในแหล่งที่จะทำก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ซึ่งก็เริ่มจากการเข้าไปถือหุ้นใน Cove Energy ทำให้อาจจะทำให้ไทยได้ซื้อ LNG ในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาด เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องนำเข้า LNG ค่อนข้างมาก เพื่อรองรับกรณีก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในอ่าวไทยและเมียนมาร์มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าอาจเกิดความขาดแคลน และในอนาคตมีแนวโน้มที่จะมีการใช้เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นเชื้อเพลิงหลักของประเทศ เพราะพลังงานถ่านหินและนิวเคลียร์ยังไม่เป็นที่ต้องการของประชาชนในประเทศ

นอกจากนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถนำก๊าซฯ จากพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา มาใช้ได้ และหากจะเพิ่มความมั่งคงในการจัดหาพลังงาน ก็ต้องมีการสร้างคลังเก็บและแปรรูปแอลเอ็นจีจาก 5 ล้านตันในปัจจุบัน เป็น 10 ล้านตันในอนาคต เพื่อจะรองรับการนำเข้าแอลเอ็นจีมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนนโยบายสนับสนุนราคาพลังงานในประเทศของรัฐบาลนั้น ปัจจุบันมีการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) และราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เรื่องเหล่านี้จะจบทั้งหมดตั้งแต่ปี 58 เป็นต้นไป ซึ่งจะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) คาดว่ารัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบาย Market Priority หรือราคาตลาดเป็นเรื่องแรก ซึ่งขณะนี้ประเทศอินโดนีเซียได้มีการประกาศลอยตัวราคาน้ำมันแล้วเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ AEC

"รัฐบาลก็ต้องพิจารณาดูว่าจะใช้วิธีในการทยอยปรับขึ้นราคาพลังงานตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงปี 58 หรือเลือกที่จะตรึงราคาพลังงานไปเรื่อยๆ จนถึงปี 58 แล้วปรับขึ้นราคาทีเดียว ซึ่งหากเลือกวิธีหลังนี้ก็อาจจะต้องมีการปรับราคาพลังงานในอัตราที่สูงมาก และประชาชนหรือผู้ประกอบการอาจจะปรับตัวไม่ได้" นายไพรินทร์ กล่าว

ปัจจุบันประเทศไทยมีการสนับสนุนราคาพลังงานใน 2 รูปแบบ คือ Blanket subsidy หรือการให้การสนับสนุนราคาพลังงานในทุกกลุ่ม ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก เช่น การอุดหนุนราคา LPG และ NGV ในปัจจุบัน กับอีกรูปแบบ คือ Direct subsidy หรือการเลือกให้การสนับสนุนเฉพาะกลุ่ม เช่น การอุดหนุนค่าไฟฟ้าฟรีให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน ซึ่งหลังจากที่มีการเปิดสู่ AEC การสนับสนุนแบบทุกกลุ่มจะหมดไป จะเหลือเพียงการสนับสนุนเฉพาะกลุ่ม แต่ก็จะน้อยลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลได้ปรับขึ้นราคา LPG ภาคขนส่งอีก 25 สตางค์ต่อกิโลกรัม เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลอยากจะปรับขึ้นราคา LPG

ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน PTT กล่าวว่า นโยบายการเก็บสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของประเทศที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายจะเก็บสำรองประมาณ 90 วัน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และให้ผู้ประกอบการเพิ่มการเก็บสำรองน้ำมันจาก 5% เป็น 6% หรือเพิ่มสำรองจาก 36 วันเป็น 45 วัน ในส่วนนี้ภาคเอกชนได้ขอผ่อนผันไปยังกระทรวงพลังงาน เพราะมีโรงกลั่นน้ำมันหลายรายยังไม่มีความพร้อม ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันของบมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP)ก็อยู่ระหว่างปิดซ่อมแซมหอกลั่นน้ำมันดิบหน่วยที่ 3

ทั้งนี้ กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันมีการประเมินว่าจะทำให้ต้นทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น 7-10 สตางค์ต่อลิตร ดังนั้น การเก็บสำรองเป็น 90 วัน ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการดำเนินการ เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึงประมาณ 4-5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทีเดียว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ