สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (14 - 17 สิงหาคม 2555) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม มีมูลค่ารวม 354,915 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 88,729 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 14% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 76% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 268,726 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 62,750 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 6,517 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB21DA (อายุ 9.35 ปี) LB176A (อายุ 4.85 ปี) และ LB155A (อายุ 2.78 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 18,651 ล้านบาท 10,059 ล้านบาท และ 8,767 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB12904A (อายุ 14 วัน) CB12N15B (อายุ 91 วัน) และ CB12913C (อายุ 28 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 49,370 ล้านบาท 26,207 ล้านบาท และ 22,641 ล้านบาท ตามลำดับ
ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) (AYCAL145A (A+)) มูลค่าการซื้อขาย 672 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (MBK137A (A)) มูลค่าการซื้อขาย 613 ล้านบาท และ หุ้นกู้ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF328A (AA-)) มูลค่าการซื้อขาย 601 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงประมาณ +6 ถึง +15 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ยกเว้นตราสารอายุ 1 เดือนที่อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลง 1 Basis Point ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ค่อนข้างเบาบางเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้สาเหตุของการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในสัปดาห์นี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงขายเพื่อทำกำไรของนักลงทุนต่างประเทศในช่วงต้นสัปดาห์ หลังจากที่นักลงทุนกลุ่มนี้ทำการซื้อสุทธิในตราสารระยะยาวอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน ในขณะที่ช่วงท้ายสัปดาห์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศต่างๆทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากนายกรัฐมนตรีเยอรมันได้ออกมาสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ในกลุ่มยูโรโซนของ ECB ทำให้มุมมองต่อสถานการณ์ในกลุ่มยูโรโซนปรับตัวดีขึ้น และตลาดเริ่มคลายความกังวลพร้อมกับมองว่าสถานการณ์ต่างๆ กำลังจะคลายตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีผลทำให้เม็ดเงินโยกจากสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำเช่นตลาดตราสารหนี้ แล้วย้ายเข้าสู่ตราสารที่มีความเสี่ยงสูงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในตราสารหนี้ทุกประเภทรวมกัน (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) 1,502 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการขายสุทธิ 1,622 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อย (Individual) ในสัปดาห์นี้มียอดซื้อสุทธิ 9 ล้านบาท