(เพิ่มเติม) UAC เล็งตั้งโรงก๊าซ CBG-CNG เพิ่ม พร้อมลุยงานน้ำ,ศึกษาไบโอดีเซลในพม่า

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 27, 2012 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติ ชีวะเกต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ (UAC)เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นขอรับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานเพื่อดำเนินโครงการผลิตก๊าซชีวภาพอัดความดันสูง(Compress Bio Gas:CBG)จากมูลสุกรและพืชมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ในลักษณะเดียวกับโรงแยกก๊าซ CBG แห่งแรกของบริษัทที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือนจากนี้

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนตั้งโรงผลิตก๊าซ 10 แห่งในพื้นที่เชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง จังหวัดละ 3-4 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งเท่ากับโรงแรกคือ 2 พันตัน/ปี ใช้เงินลงทุนโรงละประมาณ 100 ล้านบาท โดยบริษัทคาดว่าจะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐโรงละ 10% ของวงเงินลงทุน หรือประมาณ 10 ล้านบาทเช่นเดียวกับโรงแรก ส่วนที่เหลือใช้เงินกู้ ประเมินว่าจะคืนทุนภายใน 4-5 ปี

"เราจะตั้งโรงงานใกล้ปั๊มที่จะขายก๊าซให้ โอกาสได้(เงินสนับสนุน)สูง คนที่ยื่นไปพร้อม ๆ กับเราหลายรายก็เป็นพันธมิตรกัน มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ด้วย"นายกิตติ กล่าว

สำหรับรายได้จากโรงผลิตก๊าซ CBG แห่งแรกที่ตั้งขึ้นใน จ.เชียงใหม่ จะเริ่มรับรู้รายได้เข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 3/55 โดยทั้งปีน่าจะทำรายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจำหน่ายผลผลิตก๊าซ NGV ให้กับปั๊มน้ำมันของ บมจ.ปตท.(PTT)ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับโรงงาน

นายกิตติ ยังเปิดเผยอีกว่า บริษัทยังมองโอกาสในการตั้งโครงการผลิตก๊าซ Compressed natural gas(CNG)ใน จ.สุโขทัยเพิ่มเติมหลังจากที่ได้ตั้งโรงงานผลิตแห่งแรกไปแล้ว เนื่องจากบริษัทที่เป็นเจ้าของสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมที่บริษัทรับซื้อเข้ามาป้อนให้กับโรงงานนั้น ยังมีสัมปทานในแหล่งอื่นใน จ.สุโขทัยอีก และอยู่ระหว่างการสำรวจปริมาณสำรองของแหล่งที่ห่างจากแหล่งเดิมราว 15 กิโลเมตร คาดว่าจะได้ข้อสรุปผลสำรวจภายในปี 56 จากนั้นบริษัทก็จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงผลิตก๊าซแห่งที่ 2

ส่วนโรงผลิตก๊าซ CNG แห่งแรกในจ.สุโขทัย จะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ในปลายไตรมาส 1/56 ซึ่งจะได้ผลผลิตเป็นก๊าซ NGV ราว 1 หมื่นตัน/ปี, LPG ประมาณ 8 พันตัน/ปี และ NGL ประมาณ 2 พันตัน/ปี คาดว่าในปีแรกจะทำรายได้ 3 ไตรมาสกว่า 200 ล้านบาท จากรายได้เต็มที่ทั้งปีที่ 300 ล้านบาท โดยผลผลิตที่ได้มีการทำสัญญาขายให้กับ PTT ประมาณ 50% ส่วนที่เหลือบริษัทจะสามารถนำไปขายเป็นการทั่วไป

ขณะที่โครงการร่วมทุนของบริษัท และ บมจ.ไฮโดรเทค(HYDRO)ภายใต้บริษัท ยูเอซี ยูทิลิตี้ส์ เพื่อรับงานโครงการผลิตน้ำเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชน และโครงการบำบัดน้ำเสียนั้น คาดว่าในปี 56 จะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการแรกใน จ.เชียงใหม่เข้ามาเต็มที่ หลังจากที่ขณะนี้ได้เริ่มรับรู้รายได้จากงานก่อสร้างบางส่วนแล้ว ส่วนการดำเนินโครงการดังกล่าวในพม่า และภาคอีสานของไทย ผ่านขั้นตอนการออกแบบไว้แล้วและพร้อมก่อสร้าง เชื่อว่าคงได้เห็นโครงการในภาคอีสานก่อน หลังจากที่ชะลอออกมาเพราะติดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)และองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)

นายกิตติ เปิดเผยอีกว่า บริษัทยังเดินหน้าหาลูกทางการลงทุนในพม่า โดยล่าสุดได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ปลูกปาล์มแถบทางใต้ของพม่า ระนาบเดียวกับ จ.ระนองของไทย ซึ่งสามารถสกัดน้ำมันปาล์มดิบได้ราว 3 แสนตัน/ปี ปัจจุบันส่งผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบให้กับโรงกลั่นน้ำมันพืชในเมือร่างกุ้ง โดยบริษัทเห็นว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลแทน จึงได้มีการเจรจาในเบื้องต้นกับเจ้าของแหล่งปลูกปาล์มและโรงสกัดในพื้นที่เพื่อแสวงหาความร่วมมือเพื่อเข้าไปลงทุนในนามของบริษัท บางจากไบโอฟลูเอล ที่บริษัทถือหุ้นร่วมกับบมจ.บางจากปิโตรเลียม

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในพม่าขณะนี้ยังต้องรอความชัดเจนของร่างกฎหมายที่จะเปิดช่องให้ต่างชาติเข้าไปถือหุ้นได้ ซึ่งคาดว่ารัฐบาลพม่าจะเร่งผลักดันให้สามารถบังคับใช้ได้ในเร็ว ๆ นี้ อาจจะก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อรองรับการลงทุนจำนวนมากจากนานาประเทศ

นายดิตติ กล่าวถึงผลประกอบการของ UAC ในปีนี้ว่า รายได้ในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะทำได้สูงถึง 600 ล้านบาท จาก 400 ล้านบาทในครึ่งปีแรก โดยช่วงครึ่งหลังของปีนี้บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากโรงก๊าซ CBG ที่จ.เชียงใหม่ราว 20 ล้านบาทจากการขายผลผลิตก๊าซ คาดว่ารายได้ทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมายกว่า 1 พันล้านบาท เติบโต 10% จากปีก่อน ส่วนในปีหน้าจะเริ่มรับรู้รายได้จากโรงก๊าซ CNG ในจ.สุโขทัย และโรงงานผลิตน้ำและบำบัดน้ำเสียที่เชียงใหม่ น่าจะผลักดันรายได้ของบริษัทให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ