กบข.จ้าง 5 บลจ.บริหารเงินลงทุนหุ้น-ตราสารหนี้ในปท.มูลค่า 3.3 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 27, 2012 11:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กบข.ได้ลงนามสัญญาว่าจ้าง บลจ.ในประเทศ 5 แห่ง บริหารเงินลงทุนตราสารหนี้และหุ้นในประเทศมูลค่า 33,500 ล้านบาท แบ่งเป็น บลจ. 4 รายบริหารเงินลงทุนหุ้นในประเทศ ได้แก่ บลจ.กรุงศรี บลจ.ทิสโก้ บลจ.กสิกรไทย และ บลจ.วรรณ เงินลงทุนรวม 13,500 ล้านบาท และ บลจ.2 รายบริหารเงินลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ ได้แก่ บลจ.วรรณ และ บลจ.เอ็มเอฟซี เงินลงทุนรวม 20,000 ล้านบาท

กบข.ได้ดำเนินการว่าจ้างผู้จัดการกองทุน เพื่อบริหารเงินลงทุนตราสารทุนและตราสารหนี้ในประเทศ เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยดำเนินการคัดเลือกผู้จัดการกองทุน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และให้การบริหารเงินกองทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล ตามหลักเกณฑ์ 4 ประการซึ่งเป็นหลักการสากลในการพิจารณาคัดเลือก ได้แก่ เป้าหมายในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนสอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนสถาบัน (Business Profile) ทีมลงทุนที่มีประสบการณ์ความรอบรู้และเชี่ยวชาญ (People) กระบวนการลงทุนที่มีปรัชญาการลงทุนที่ชัดเจนและมีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน (Process) ผลการดำเนินงานที่สะท้อนความต่อเนื่องของการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว (Performance)

“กบข.ว่าจ้างผู้จัดการกองทุนในประเทศ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของโอกาสในการสร้างผลตอบแทน และกระจายความเสี่ยงในการบริหารกองทุนไม่ให้กระจุกตัวใน กบข. เพียงอย่างเดียว เนื่องจากผู้จัดการกองทุนภายนอกแต่ละแห่งจะมีรูปแบบการลงทุนที่แตกต่างจาก กบข. รวมทั้งแนวคิดหรือลักษณะในการจัดพอร์ตลงทุนที่แตกต่างกันด้วย ทำให้เกิดการผสมผสานของรูปแบบการลงทุนที่มีหลากหลายมิติ ก่อให้เกิดประสิทธิผลของการลงทุนที่ดี นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการเรียนรู้เทคโนโลยี แลกเปลี่ยนมุมมองการลงทุนระหว่างผู้จัดการกองทุนภายในและภายนอก กบข. ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารพอร์ตการลงทุนเป็นอย่างยิ่ง" นางสาวโสภาวดี กล่าว

สำหรับจุดเด่นที่ทำให้ทั้ง 5 บลจ.ได้รับการคัดเลือกบริหารเงินกองทุนของ กบข. คือ รูปแบบการลงทุนที่แตกต่างจาก กบข. เช่น พอร์ตการลงทุนตราสารทุน บลจ.กรุงศรี จะเน้นลงทุนหุ้น ที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลสูง บลจ.ทิสโก้ จะลงทุนหุ้นที่มีพื้นฐานดีในระยะยาว บลจ.กสิกรไทย เน้นลงทุนหุ้นที่มีพื้นฐานและอัตราการเติบโตดีในระยะกลาง 2-3 ปี และ บลจ.วรรณ เน้นลงทุนหุ้นตามวัฎจักรอุตสาหกรรม ในขณะที่การลงทุนของ กบข.เน้นหุ้นในกลุ่ม SET50 ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ส่วน บลจ.ที่ได้รับเลือกให้บริหารเงินลงทุนตราสารหนี้ โดย บลจ.วรรณ มีรูปแบบลงทุนโดยพิจารณาจากปัจจัยภาพรวมเศรษฐกิจ ร่วมกับความต้องการซื้อพันธบัตรของนักลงทุน (อุปสงค์) กับปริมาณการออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้ในตลาด (อุปทาน) ในขณะที่ บลจ.เอ็มเอฟซี เน้นการลงทุนในเชิงเปรียบเทียบมูลค่าของตราสารหนี้ (Relative Value) ซึ่งแตกต่างจาก กบข.ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวที่มีคุณภาพดี ให้ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยสูง และปรับกลยุทธ์การลงทุนตามการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ความแตกต่างของรูปแบบการลงทุนที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวเช่นนี้ ทำให้ กบข.เชื่อมั่นว่า จะสามารถสร้างผลตอบแทนระยะยาวสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อให้สมาชิกมีเงินพอเพียงในยามเกษียณ