นายพันธ์เทพ จำรัสโรมรัน ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. ทีโอที(TOT) เปิดเผยว่า การดำเนินการติดตั้ง 3Gเฟส 2 ซึ่งจะเป็นการใช้โครงข่ายร่วมระหว่าง 3G กับ 4G (LTE)จำนวน 15,000 สถานีฐานนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโครงการเพื่อของบประมาณไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้สามารถเปิดบริการ 3G ควบคู่ไปกับการให้บริการ 4G ในความเร็ว 100 เมกะบิต/วินาที
ทีโอทีจะไม่ไปลงทุนในการติดตั้งสถานีฐาน เนื่องจากการศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าว พบว่าจำนวนเงิน 60% นั้นมาจากค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรและการติดตั้งสถานีฐาน ทั้งนี้ ทีโอที จะใช้วิธีการเจรจากับหน่วยงานของรัฐบาลทั่วประเทศเพื่อขอใช้พื้นที่ในหน่วยงานทั้ง สถานศึกษา โรงพยาบาล ฯลฯ เพื่อลดค่าใช้จ่ายกว่า 60% จากงบเดิม ที่ตั้งไว้กว่า 30,000 ล้านบาทของโครงการด้วย
นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการในวันที่ 28 ก.ย.55 ที่ประชุมจะมีการรายงานความคืบหน้า 3G ที่ขณะนี้ คณะทำงานสามารถหาสถานีฐานที่จะติดตั้ง 3G ครบทั้ง 5,320 แห่งทั่วประเทศแล้ว โดยอยู่ระหว่างการติดตั้งอุปกรณ์ ทั้งนี้ มั่นใจว่าจะสามารถเปิดให้บริการ 3G ทั่วประเทศได้ทันตามกำหนดในเดือน ต.ค.นี้ หลังจากที่ต้องเลื่อนการเปิดให้บริการตามกำหนดในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากติดปัญหาน้ำท่วม
นายพันธ์เทพ กล่าวว่า เร็วๆ นี้ ทีโอทีจะเปิดให้บริการ WIFI ทั่วประเทศ 2 แสนจุด และร่วมกับของรัฐบาลอีก 2 แสนจุด เพื่อดึงดูดลูกค้าเก่าที่ใช้บริการบรอดแบรนด์ (อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง)กว่า 1 ล้านราย และโทรศัพท์บ้านรวมกัน 3 ล้านราย ได้ใช้ WIFI ฟรีได้ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยภายในเดือน ก.ย.นี้จะประกาศเชิญชวนให้บริษัทที่สนใจร่วมโครงการ โดยจะแบ่งเป็นการติดตั้งจุดบริการ 4 ภาค ทั้งนี้ ตั้งเป้าในสิ้นปีนี้จะมี WIFI กว่า 2 แสนจุด
ขณะนี้ได้ให้ฝ่ายบริหารจัดทำแผนบริหารคลื่นความถี่ที่ ทีโอที ได้ดำเนินธุรกิจทั้งหมดว่าทีโอทีมีจำนวนคลื่นความถี่ทั้งหมดเท่าไหร่ แล้วใช้งานอย่างไรบ้าง เนื่องจากฝ่ายบริหารจะต้องส่งแผนคลื่นทั้งหมดให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาก่อนวันที่ 7 ก.ย.55 เพื่อรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ภายในวันที่ 14 ก.ย.55 นี้
ทั้งนี้ แนวทางบริหารคลื่นความถี่ดังกล่าวจะเป็นส่วนช่วยให้ทีโอที ได้ทราบว่าจะนำคลื่นที่มีอยู่จุดไหนมาใช้งานให้คุ้มค่าต่อสิ่งที่มีอยู่มาต่อยอดธุรกิจ โดยสัญญาในการบริหารคลื่นความถี่อย่างคลื่น 900 MHz ของทีโอทีจะไม่เหมือนกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม(CAT)ที่ต้องคืนคลื่นหลังหมดสัญญาสัมปทาน โดยการทำสัญญาคลื่นที่ ทีโอที ได้รับเป็นใบอนุญาตตามสัญญาหากสัมปทานหมด ทีโอที ก็ยังมีสิทธิที่จะบริหารคลื่นความถี่เหมือนเดิม
"ตอนนี้เราต้องเขียนแผนการใช้งานคลื่นให้ชัดเจน ซึ่งหากหมดสัญญาสัมปทาน ทีโอทีจะทำอย่างไรกับลูกค้ากว่า 30 ล้านรายของบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส(ADVANC)ที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับทีโอที โดยทีโอทีจะไม่ไปแตะเรื่องคลื่นในสัญญาใหม่"นายพันธ์เทพ กล่าว