สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (27 - 31 สิงหาคม 2555) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 362,046 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 72,409 ล้านบาท ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 8% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 76% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 274,530 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 25,399 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 8,077 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 4.85 ปี) LB155A (อายุ 2.78 ปี) และ LB15DA (อายุ 3.3 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 5,303 ล้านบาท 4,781 ล้านบาท และ 3,693 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB12918A (อายุ 14 วัน) CB12927C (อายุ 28 วัน) และ CB12N29B (อายุ 91 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 62,482 ล้านบาท 28,826 ล้านบาท และ 16,602 ล้านบาท ตามลำดับ
ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) (AYCAL132A (A+)) มูลค่าการซื้อขาย 861 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน) (MBK163A (A)) มูลค่าการซื้อขาย 701 ล้านบาท และ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (TLT12DA (AAA)) มูลค่าการซื้อขาย 643 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น / ลดลงอยู่ในช่วงประมาณ -3 ถึง +1 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) โดยภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ไทยในสัปดาห์นี้ (27 — 31 ส.ค.) มีมูลค่าของการซื้อขายที่ค่อนข้างเบาบาง และอัตราผลตอบแทนค่อนข้างนิ่งในทุกๆช่วงอายุของตราสารหนี้ โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ชะลอการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจนของเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในวันที่ 31 ส.ค. ว่าจะมีสัญญาณของการนำมาตรการใหม่ๆ เช่นมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณครั้งที่ 3 (Quantitative Easing: QE3) ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ นอกจากนี้แล้ว ยังต้องติดตามการประชุมที่สำคัญในช่วงอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า ได้แก่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) ในวันที่ 5 ก.ย ว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3% หรือไม่ หลังจากที่ตลาดเริ่มมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ กนง.อาจจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยภาคการส่งออกที่เริ่มชะลอตัวตามทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 6 ก.ย ว่า มาตรการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของ ECB (Bond Buying Program) จะเป็นอย่างไร หลังจากมีกระแสข่าวว่า ECB จะเข้าซื้อเฉพาะพันธบัตรระยะสั้น หรือ Short Maturities เท่านั้น ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ หรือบวกลบ ประมาณ 1 - 3 bps.
ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในตราสารหนี้ทุกประเภทรวมกัน (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) 32,100 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิเพียง 3,909 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อย (Individual) ในสัปดาห์นี้มียอดซื้อสุทธิ 310 ล้านบาท