น.พ.สมยศ อนันตประยูร ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น(WHA) คาดว่า บริษัทจะสรุปราคาเสนอขายสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO)ได้ก่อนวันที่ 15 ต.ค.นี้ เพื่อเสนอขายหุ้นและนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(SET)ได้ภายในเดือน ต.ค.เช่นกัน เพื่อนำเงินไปใช้ในการขยายธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ชำระหนี้ และ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
WHA เป็นผู้ดำเนินธุรกิจ Built to Suit คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และโรงงานระดับพรีเมียม โดยมีลูกค้ารายใหญ่ระดับโลกที่เช่าพื้นที่ ได้แก่ PRIMUS ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน, DUCATI รถจักรยานยนต์หรูจากอิตราลี, KAO สินค้าอุปโภคบริโภคจากญี่ปุ่น, DKSH Health Care บริษัทยาและเวชภัณฑ์รายใหญ่, Meed Johnson, CHANEL, MARS , Starbuck, เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เป็นต้น
บริษัทมีแผนจะพัฒนาพื้นที่ให้เช่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องปีละ 3 แสนตารางเมตร โดยมีสัญญาในการปรับขึ้นค่าเช่าทุก 3 ปี คราวละประมาณ 10% พร้อมทั้งมีแผนจะขายสิทธิการเช่าให้เป็นสินทรัพย์ของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่า(WHA Premium Factory and Warehouse Fund)ที่จัดตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ราวปีละ 1.5-2 แสน ตร.ม.คาดว่าจะเป็นการเพิ่มขนาดกองทุนราว 3 พันล้านบาท/ปี จากปัจจุบันที่มีพื้นที่ให้เช่าแล้วเกือบ 5 แสน ตร.ม.ขณะเดียวกันมีที่ดินรอการพัฒนาอีกประมาณ 300 ไร่ ทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกนิคมอุตสาหกรรม
น.พ.สมยศ กล่าวว่า บริษัทคาดว่าผลประกอบการในปีนี้คาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 200-300 ล้านบาท เนื่องจากประเมินว่ารายได้จะเติบโตในระดับเฉลี่ยที่ประมาณ 33% ต่อปี หรือมีรายได้อยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดว่าจะรักษาการเติบโตของรายได้ในระดับเช่นนี้ต่อไปได้ โดยเฉพาะหลังการระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง
สำหรับแผนธุรกิจในปี 56 คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านบาท แต่กำไรจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยบริษัทมีแผนการลงทุนราว 4 พันล้านบาท เพื่อใช้จัดซื้อที่ดินเพิ่มเติม รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ให้เช่า โดยจะจัดซื้อที่ดินใหม่ตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย ด้วยการเตรียมงานร่วมกับลูกค้า ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถกำหนดเป้าหมายการจัดซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่โรงงาน คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าได้อย่างชัดเจน
น.พ.สมยศ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างสำรวจลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศ หรือในภูมิภาคเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ในปี 58 โดยจะเป็นการศึกษาไปพร้อมกับแผนงานของลูกค้าที้ต้องการขยายงาน หรือลูกค้ารายใหม่ที่จะต้องการขยายฐานการผลิตและการจำหน่าย โดยขณะนี้ได้เข้าไปสำรวจทำเลในจีน เวียดนาม กัมพูชา และพม่า รวมถึงจังหวัดตามแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เบื้องต้นพบว่าทำเลในพม่าและจีนมีศักยภาพที่น่าสนใจ คาดว่าการลงทุนดังกล่าวน่าจะมีข้อสรุปในปี 56