ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 403,457 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 10, 2012 15:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (3 - 7 กันยายน 2555) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 403,457 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 80,691 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 11% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 73% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 294,706 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 65,905 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 6,977 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 4.85 ปี) LB155A (อายุ 2.78 ปี) และ LB21DA (อายุ 9.3 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 21,377 ล้านบาท 12,521 ล้านบาท และ 11,702 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB12D06B (อายุ 91 วัน) CB12925A (อายุ 14 วัน) และ CB12O04C (อายุ 28 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 42,633 ล้านบาท 41,249 ล้านบาท และ 22,735 ล้านบาท ตามลำดับ

ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (TLT12DA (AAA)) มูลค่าการซื้อขาย 1,057 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) (SCCC136A (A (tha))) มูลค่าการซื้อขาย 611 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTTC13OB (AAA (tha))) มูลค่าการซื้อขาย 429 ล้านบาท

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในตราสารอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ในช่วงประมาณ +2 ถึง +8 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ในขณะที่อัตราผลตอบแทนในตราสารหนี้อายุต่ำกว่า 3 ปีส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง ยกเว้นตราสารอายุ 1 เดือนที่อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลง -1 Basis Point ทั้งนี้ภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ในช่วงสัปดาห์นี้ มูลค่าการซื้อขายคึกคักขึ้นจากในสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งในช่วงต้นสัปดาห์นั้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลง ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงกลางถึงปลายสัปดาห์ เนื่องจากตลาดมีความชัดเจนในสถานการณ์ต่างๆ มากขึ้น และปรับตัวตามทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (US Treasury) หลังจากการแถลงการณ์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ยังไม่มีการส่งสัญญาณถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE3) เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ส่วนใหญ่ออกมาค่อนข้างดี รวมไปถึงผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ประกาศโครงการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศต่างๆในยูโรโซน แบบไม่จำกัดจำนวน สำหรับพันธบัตรอายุไม่เกิน 3 ปี เพื่อเป็นการลดต้นทุนการกู้ยืมของประเทศลง สำหรับประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจที่ยอมรับเงื่อนไขนโยบายรัดเข็มขัด โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะลดต้นทุนการกู้ยืมของประเทศต่างๆในยูโรโซนให้ต่ำลง และสำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.0% เนื่องจากเห็นว่าอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งจากการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และนโยบายการเงินในขณะนี้ยังอยู่ในภาวะผ่อนปรนเพียงพอสำหรับกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ แต่อย่างไรก็ตาม กนง.ก็ยังคงติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายที่เหมาะสมตามความจำเป็น ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วงสัปดาห์นี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประมาณ 2-8 bps. สำหรับปัจจัยที่ตลาดยังคงจับตาในช่วงสัปดาห์หน้า (10 — 14 กันยายน) คือการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 กันยายนนี้ ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ หรือ QE3 ออกมาตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้หรือไม่

ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในตราสารหนี้ทุกประเภทรวมกัน (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) 21,845 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิเพียง 4,327 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อย (Individual) ในสัปดาห์นี้มียอดซื้อสุทธิ 404 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ