นายอธิคม เติบศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี(IRPC) ปฏิเสธกระแสข่าวที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ระบุว่า บริษัทอาจเข้าควบรวมกิจการกับ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมีคอล(PTTGC) โดยยืนยันว่าไม่เคยมีการหารือเรื่องนี้ แต่ก็ยอมรับว่าบริษัทสนใจที่จะมีพันธมิตรเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนทางธุรกิจลง
"เราไม่เคยคุยเรื่องควบรวมกันเลย แต่เราอยากมีเพื่อนใหม่ไม่อย่างนั้นก็จะเหมือนไตรมาส 2 ที่ขาดทุน stock loss เพื่อนใหม่เราต้องเป็นความแข็งแกร่งธุรกิจที่ส่งเสริมกันได้ ที่มีมูลค่าผลตรอบแทนเพียนงพอที่ผู้ถือหุ้นจะอนุมัติให้เรามีได้ ตอนนี้ยังไม่มีเพื่อนใหม่ ยังไม่มีใครอยากถือหุ้นเรา" นายอธิคม กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมั่นใจว่าผลประกอบการปีนี้จะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ แม้ว่าครึ่งปีแรกจะมีผลขาดทุนถึง 3 พันล้านบาท เนื่องจากเชื่อว่าครึ่งปีหลังค่าการกลั่นรวม(GIM) รวม stock จะปรับตัวสูงขึ้นมาเป็น 7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากครึ่งปีแรกที่ติดลบ 3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่บริษัทคงเป้ารายได้ในปีนี้เติบโต 15% มาที่ 2.76 แสนล้านบาท ภายใต้กำลังการกลั่นเฉลี่ย 1.75 แสนบาร์เรล/วัน
บริษัทพยายามลดสัดส่วนธุรกิจโรงกลั่น เพิ่มสัดส่วนธุรกิจเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ ตามโครงการฟีนิกซ์ที่จะเพิ่มความสามารถในการทำกำไร โดยคาดว่าในปี 58 จะมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจัดจำหน่าย (EBITDA) จะเติบโตมากกว่า 15% แม้ว่ารายได้เติบโต 5-10% เพราะบริษัทมีโอกาสต่อยอดธุรกิจได้อีกจากการเพิ่มสัดส่วนสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มแม้ว่าจะใช้เวลา ทั้งนี้วางแผนในอีก 4 ปีหรือในปี 59 บริษัทจะเพิ่มสัดส่วนสินค้าเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษอีกเท่าตัวเป็น 60% จาก 30% เมื่อปีที่แล้ว โดยเพิ่มเป็น 35% ในปีนี้
นายอธิคม กล่าวว่า จากการที่สหรัฐออกมาตรการ QE3 เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยรอบนี้จะอัดฉีดเข้าผู้บริโภค และธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ส่งสัญญาณอัตราดอกเบี้ยต่ำไปอีกนาน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับขึ้นไปสูงที่ 116-117 เหรียญ/บาร์เรล แต่ก็ยังคาดว่าสิ้นปีนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ 104-105 เหรียญ/บาร์เรล เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจยุโรปยังกดดันราคาน้ำมันอยู่ และเศรษฐกิจจีนและอินเดียมีอัตราเติบโตชะลอตัว
นอกจากนั้น บริษัทยังมีแผนจะทยอยขายที่ดินในมือที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจหลัก ซึ่งมีอยู่ประมาณ 500 ไร่ เพื่อบันทึกเข้ามาเป็นรายได้ โดยที่ดินที่นำออกขายในปีนี้ ซึ่งที่ดินผืนใหญ่สุดมีจำนวน 100 ไร่ รวมสถานีบริการน้ำมัน ขณะนี้ได้ประกาศเปิดประมูลซื้อขายอยู่ 20 แห่ง จากทั้งหมดที่มีอยู่ 1.5 หมื่นไร่
รวมทั้งชะลอแผนลงทุนสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ใน จ.ระยอง ที่มีมูลค่าลงทุนหลายร้อยล้านบาทออกไปก่อน และมีนโยบายจะลดค่าใช้จ่ายในการบริหารไม่น้อยกว่า 10% เพื่อรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก