CPF เพิ่มจุดกระจายสินค้าอีก 4 แห่งพร้อมรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 20, 2012 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรชัย รัตนบานชื่นรองกรรมการผู้จัดการบริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวว่า บริษัทได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน เพื่อจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อรับมือกับปัญหาอุทกภัยและมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง พร้อมสำรวจ เฝ้าระวัง และประเมินความเสี่ยงของที่ตั้งหน่วยงาน รวมถึงการเพิ่มจุดกระจายอีก 4 แห่ง ได้แก่ทางภาคตะวันออก ลำปาง สุราษฎร์ธานี และที่วังน้อย ตลอดจนเส้นทางสัญจร แหล่งวัตถุดิบ และบริเวณที่พักอาศัยของพนักงาน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เสี่ยง มีการจัดอุปกรณ์ต่างๆสำหรับการป้องกันน้ำท่วม อาทิ กระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ สร้างผนังกั้นน้ำ ตลอดจนอุปกรณ์สำรองไฟ ทั้งนี้ ซีพีเอฟยังร่วมกับชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงในการกำหนดมาตรการป้องกันและสนับสนุนการดำเนินงานมาโดยตลอด

"ซีพีเอฟตระหนักและวางแผนเพื่อพร้อมรับมือภัยพิบัติอยู่เสมอโดยเฉพาะอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จึงมีมาตรการต่างๆ เพื่อการป้องกันและรองรับสถานการณ์ ทั้งการจัดทำแผนฉุกเฉินมีมาตรการป้องกันทั่วไป มาตรการเตรียมพื้นที่เสี่ยง การดูแลชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง การดูแลสุขภาพอนามัย ตลอดจนการติดตามรายงานภาวะน้ำท่วม พยากรณ์อากาศ และภัยพิบัติต่างๆ อย่างใกล้ชิด" นายวีรชัย กล่าว

ด้านนายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำปี 2555 เบื้องต้น คาดว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก เนื่องจากปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ทางเหนือที่มีอยู่ 2 เขื่อนมีเพียงประมาณ 50-60% จึงยังมีความสามารถในการรับรองน้ำได้อีกประมาณ 9,000 ล้านลบ.ม. และขณะนี้มีน้ำเข้าในเขื่อนภูมิพลวันละประมาณ 70 ล้านลบ.ม. แต่หากว่าเกิดฝนตกใต้เขื่อนจะเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่ำ แต่เมื่อน้ำในแม่น้ำลด น้ำในทุ่งก็จะค่อยๆ ไหลลงสู่แม่น้ำ เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในพื้นที่บางระกำ แต่น้ำยังออกไม่ได้ เพราะว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำยมยังเต็มอยู่

สถานการณ์ในขณะนี้สิ่งที่น่าจับตามากที่สุดก็คือเขื่อนป่าสัก กับร่องฝนที่จะพาดผ่าน เขื่อนป่าสักเป็นเขื่อนขนาดกลางที่มีความจุน้ำที่ 800 ล้าน ลบ.ม. โดยขณะนี้มีปริมาณน้ำ 500 ล้าน ลบ.ม.แล้ว จะต้องบริหารความเสี่ยงให้ดี เพราะหากว่าน้ำในเขื่อนป่าสักเต็ม ก็หมายความว่า ท่าเรือนครหลวงจะมีปัญหา

ความเสี่ยงที่สองคือ เมื่อเกิดฝนตกในกรุงเทพฯ จะเกิดน้ำท่วมขังอย่างที่พบเจอ และหากเกิดมีพายุเข้ามาโดยตรงก็อาจเกิดภาวะน้ำท่วมได้ สำหรับน้ำในเจ้าพระยาขณะนี้ยังต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 1-1.50 เมตร กรณีที่จะเกิดน้ำล้นคันจึงค่อนข้างจะยาก เว้นแต่ว่าจะเกิดภาวะฝนตกอย่างหนัก แต่หากมีการท่วมขัง ก็จะไม่มากเหมือนในปี 2554 ที่ผ่านมาอย่างแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ