รายงานข่าวคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ก.ย.55 จำหน่ายคดีที่คุ้มครองชั่วคราวชั่วคราวการประมูลใบอนุญาตให้บริการ (ไลเซ่นส์) 3 จี บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz เพื่อบรรเทาทุกข์ก่อนพิพากษา จึงส่งผลให้ไม่มีคดีคุ้มครองฉุกเฉินใดๆ เกี่ยวกับการประมูล 3 จี ค้างอยู่ที่ศาลปกครองแล้ว
ก่อนหน้านี้ นายฐากร ตัณฑสิทธ์ เลขาธิการ กสทช. ได้ส่งหนังสือไปยังศาลปกครองเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมาเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินห้ามการประมูล 3จีที่เคยดำเนินการไว้ในอดีตของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) เพราะต้องการให้การประมูลไลเซ่นส์ 3 จี ของกสทช. ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 16 ต.ค.นี้ ไม่มีปัญหาใดๆ และขณะนี้ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมเคลื่อนที่สากล 2.1 GHz มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ประกาศฉบับเดิมสมัยยังเป็น กทช.ไม่มีผล
นอกจากนี้ นายฐากร ยังได้ส่งหนังสือไปยัง นายกสมาคมธนาคารไทย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และรมว.คลังเพื่อขอให้ธนาคารช่วยสนับสนุนการออกเอกสารรับทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้เข้าแข่งขันประมูลไลเซ่นส์ 3 จี มากขึ้น ซึ่ง หากไม่มีเอกสารดังกล่าว กสทช.จะไม่อนุญาตให้เข้าร่วมประมูลอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ นายพิทยาพล จันทนะสาโร รองเลขาธิการกสทช. กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้มาขอรับซองประมูลแล้ว 17 ราย โดยบริษัทที่มาขอรับรายใหม่ คือ ทานตะวัน คอมมูนิเคชั่น
ส่วนอีก 16 รายเดิม คือ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท แอดวานซ์ โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ จำกัด บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด บริษัท ทรูมูฟ จำกัด บริษัท เรียล มูฟ จำกัด บริษัท เคเบิลไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท เอซีที โมบาย จำกัด บริษัท บีบี คอนเน็ค จำกัด บริษัท จาย่า ซ็อฟ วิชั่น จำกัด บริษัท วิคตอรี่ มอเตอร์ จำกัด บมจ. จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS ) พร้อมบริษัทในเครือ อย่าง บมจ.จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็ม (JTS) และ บมจ. ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น (SYMC)