บมจ.โออิชิ(OISHI) คาดว่าในปี 55 จะมีรายได้รวม 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมาจากธุรกิจเครื่องดื่ม 6,700 ล้านบาท และธุรกิจอาหาร. 5,300 ล้านบาท ขณะที่คาดว่าอัตรกำไรสุทธิในปีนี้จะอยู่ที่ 10% ของยอดขาย และตั้งเป้าหมายในปี 59 จะทำรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 3.2 หมื่นล้านบาท โดยธุรกิจเครื่องดื่มจะมียอดขาย 1.8 หมื่นล้านบาท และธุรกิจอาหารจะมียอดขาย 1.4 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมนวนครจะกลับมาเดินเครื่องผลิตเต็มที่ได้ในช่วงปลายปีนี้ หลังจากได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปี 54 โดยเป็นยอดผลิตชาเขียวขวด PET 60 ล้านขวด/เดือน และแบบกล่องยูเอชที 35 ล้านกล่อง/เดือน จากขณะนี้มียอดผลิต 22 ล้านกล่อง/เดือน
นายแมทธิว กิจโอธาน กรรมการผู้จัดการ OISHI กล่าวว่า บริษัทผนึกกับ บมจ.เสริมสุข(SSC)ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์" โออิชิ กรีนที ขวดแก้ว" ชาเขียวพร้อมดื่มบรรจุลงในขวดแก้วเพื่อขยายฐานตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม โดยเจาะช่องทางร้านอาหารและร้านค้าทั่วไปในเครือข่ายการกระจายสินค้าของเสริมสุข ซึ่งเป็นช่องทางที่มีโอกาสทางการตลาดสูง โดยโออิชิเป็นเจ้าแรกที่ทำตลาดและยังไม่มีชาเขียวรายใดทำตลาดขวดแก้วมาก่อน ตั้งเป้ายอดขายแตะ 1 พันล้านบาทภายในปี 56
ทั้งนี้ ชาเขียว"โออิชิ กรีนที ขวดแก้ว" รสน้ำผึ้งผสมมะนาว ซึ่งเป็นรสชาติเดียวที่ขายในรูปตลาดคืนขวดเพราะเข้ากับอาหารทุกมื้อย่างลงตัว ในขนาด 400 มล. ราคา 12 บาท บริษัทตั้งเป้าจะมียอดขาย"โออิชิ กรีนที ขวดแก้ว"สัดส่วน 20% ของยอดขายธุรกิจน้ำดื่มในปี 59 โดยปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดของตลาดชาเขียวประมาณ 55% ของตลาดรวมน้ำชาเขียว ซึ่งคาดว่าปรยร่มีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 38% จากปีก่อน
นายอนิรุทธิ์ มหธร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม OISHI กล่าวว่า บริษัทได้ตั้งงบด้านการตลาด 200 ล้านบาทในการทำตลาด"โออิชิ กรีนที ขวดแก้ว"ให้เป็นน้ำของพระเอก ซึ่งจะช่วยขยายฐานการตลาด และเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น การบุกช่องทางร้านอาหารและร้านค้าทั่วไปในครั้งนี้ ตอกย้ำความเป็นจ้าของนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ของโออิชิที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม และเป็นแบรนด์แรกที่เปิดตลาดชาเขียวบรรจุกระป๋อง กล่องยูเอชที และบุกเบิกเซกเมนต์ชาเขียวอัดลม(ยากูซ่า) มาถึงวันนี้เปิดตลาดแบบคืนขวด
ด้านนายฐิติวุฒิ์ บุลสุข กรรมการผู้จัดการ SSC กล่าวว่า การร่วมมือครั้งนี้ บริษัทได้ใข้เงินลงทุน 150 ล้านบาทในการปรับปรุงสายการผลิต ที่รองรับกับยอดขาย 1 พันล้านบาทในปีแรก เพราะบริษัทเห็นว่าตลาดชาเขียวเติบโตสูงต่อเนื่องตลอด ซึ่งปีนี้เติบโต 38% จึงเป็นจุดที่เข้าตลาดเครื่องดื่มไม่อัดลม
การผลิตชาเขียวพร้อมดื่มบรรจุในขวดแก้ว เป็นจุดเปลี่ยนการแข่งขันในตลาดชาเขียว โดย SSC มีรถขายตรงถึง 1,200 คัน และส่งเครื่องดื่มถึงร้านอาหารที่มีกว่า 2 แสนร้าน ซึ่งเจาะพื้นที่กรุงเทพและพื้นที่ภาคกลางก่อน ทำให้เกิดช่องทางและโอกาสตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ SSC เปลี่ยนโฉมไป