ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่าอันดับเครดิตของธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY)ไม่ได้รับผลกระทบในทันทีจากการที่ GE Capital International Holdings Corporation (GECIH) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้ทำการขายหุ้นประมาณ 7.6% ของหุ้นที่ถืออยู่ใน BAY ให้แก่นักลงทุนสถาบัน ทั้งนี้เนื่องจากอันดับเครดิตของ BAY สะท้อนถึงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (viability rating) ของธนาคาร ซึ่งเป็นการประเมินความแข็งแกร่งทางการเงินและพื้นฐานด้านเครดิตของตัวธนาคารโดยไม่ได้คำนึงถึงการสนับสนุนพิเศษ (extraordinary support) จาก GECIH
การขายหุ้นดังกล่าวทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ GECIH ใน BAY ลดลงเป็น 25% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มรัตนรักษ์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อีกรายหนึ่ง โดย BAY แจ้งว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทจากการขายหุ้นดังกล่าว ในขณะเดียวกัน GECIH กล่าวว่าจะทำการทบทวนอย่างต่อเนื่องสำหรับทางเลือกในการถือหุ้นส่วนที่เหลือใน BAY ทั้งนี้การขายหุ้นเพิ่มเติมของ GECIH หรือ ของกลุ่มรัตนรักษ์ ที่นำไปสู่การเข้ามาถือหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ อาจส่งผลให้ฟิทช์ทำการทบทวนอันดับเครดิตของ BAY
ในขณะที่การเข้ามาถือหุ้นใน BAY ของ GECIH ตั้งแต่ปี 2550 ส่งผลในทางบวกต่อฐานะการเงินของธนาคารเนื่องจากสถานะเงินกองทุนที่แข่งแกร่งขึ้นจากการเพิ่มทุนและการสนับสนุนด้านการดำเนินงานโดย GECIH ฟิทช์มองว่าผลประโยชน์ทางการเงินและการดำเนินงานดังกล่าวเป็นการสนับสนุนปกติ (ordinary support) ซึ่ง BAY ได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ดังกล่าวแล้วจากการที่ GECIH เข้ามาถือหุ้นในช่วงระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา
จากการสนับสนุนของ GECIH ซึ่งมีประสบการณ์ในด้านสินเชื่อเพื่อการบริโภค BAY ได้สร้างฐานลูกค้ารายย่อยโดยการขยายการปล่อยสินเชื่อรายย่อยและการซื้อกิจการหลายครั้ง (ซึ่งรวมถึง จีอี แคปปิตอล ออโต้ลีส ธนาคารเอไอจีเพื่อรายย่อย เอไอจี คาร์ด จีอี มันนี่ (ประเทศไทย) และการซื้อธุรกิจสินเชื่อรายย่อยในประเทศไทยจากธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น) ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา โดยธนาคารมีเป้าหมายที่จะขยายสัดส่วนธุรกิจสินเชื่อลูกค้ารายย่อยเป็น 50% ของสินเชื่อรวมจากสัดส่วนในปัจจุบันที่ 48%
การระดมเงินฝากที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารขนาดใหญ่ โดยวัดจากขนาดของเงินฝากเป็นสัดส่วนของฐานเงินทุน น่าจะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของธนาคาร และการรักษาความแข็งแกร่งของระดับเงินกองทุนและความสามารถในการทำกำไรอย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นผลดีต่ออันดับเครดิตด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันหากความเสี่ยงด้านสภาพคล่องมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากตลาดทุนในระดับที่สูงขึ้น หรือความเสี่ยงที่คุณภาพสินทรัพย์อาจปรับตัวอ่อนแอลงอย่างมาก เนื่องจากอัตราการเติบโตของสินทรัพย์ที่สูงมาก หรือการที่มีการปรับตัวอ่อนแอลงของระดับเงินกองทุน อาจส่งผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของธนาคาร
BAY ก่อตั้งขึ้นในปี 2488 และเป็นธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดของสินเชื่อและเงินฝากประมาณ 8% ณ สิ้นมิถุนายน 2555 ธนาคารมีบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อเพื่อการบริโภค หลักทรัพย์และการบริหารจัดการกองทุน ด้วยสินทรัพย์และเงินฝากของธนาคารที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ฟิทช์มองว่ามีความเป็นไปได้ในการที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐกรณีที่มีความจำเป็น