สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (24-28 กันยายน 2555) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 365,738 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 73,148 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 5% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 69% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 252,783 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 58,700 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 7,773 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 4.85 ปี) LB145B (อายุ 1.6 ปี) และ LB21DA (อายุ 9.2 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 10,419 ล้านบาท 9,201 ล้านบาท และ 8,625 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB12O16A (อายุ 14 วัน) CB12D27B (อายุ 91 วัน) และ CB12O25C (อายุ 28 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 43,935 ล้านบาท 24,623 ล้านบาท และ 15,417 ล้านบาท ตามลำดับ
ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (มหาชน) (RG133A (AA)) มูลค่าการซื้อขาย 600 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) (SCCC136A (A)) มูลค่าการซื้อขาย 580 ล้านบาท และ หุ้นกู้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTTC13OB (AAA)) มูลค่าการซื้อขาย 573 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลงในช่วงของตราสารอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป หรือลดลง ในช่วงประมาณ -1 ถึง -12 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ในขณะที่ตราสารอายุน้อยกว่า 3 ปี อัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2 Basis Point ทั้งนี้ มูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้ในสัปดาห์นี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า โดยนักลงทุนเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับปริมาณของพันธบัตรรัฐบาล (Supply) ที่จะออกประมูลในช่วงอีก 3 เดือนที่เหลือของปีพ.ศ. 2555 นี้ ที่อาจจะมีไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด จึงเกิดแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาดอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่มีแรงขายทำกำไรออกมาในช่วงสัปดาห์ก่อน ในขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ยังคงเป็นประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่เช่นเดิม เช่นความเคลื่อนไหวของประเทศสเปน ที่มีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นประเทศต่อไปที่ต้องเข้ารับความช่วยเหลือจากธนาคารกลางยุโรป หรือการประกาศฉีดเงินเข้าสู่ระบบอีก 58,000 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ของประเทศจีน เพื่อกระตุ้นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆเหล่านี้ ส่งผลทำให้มีเม็ดเงินบางส่วนไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้
ทางด้านสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่นักลงทุนในตลาดคาดการณ์ไว้ โดยตัวเลขการส่งออกประจำเดือนสิงหาคม 2555 หดตัวลง 6.95% เมื่อเทียบกับตัวเลขในเดือนสิงหาคมของปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ในขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ปรับตัวเลขประมาณการณ์ GDP จากเดิมที่ 5.7% เป็น 5.5% เนื่องจากคาดการณ์ว่าการส่งออกในปี 2555 จะโตเพียงร้อยละ 4.5 จากปัญหาเศรษฐกิจโลก แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยการบริโภคและลงทุนภายในประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จะสามารถช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่วาง
ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภทรวมกัน (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) 4,818 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิ 4,326 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อย (Individual) ที่ถึงแม้จะมีสัดส่วนการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างน้อย แต่ในสัปดาห์นี้มียอดซื้อสุทธิ 317 ล้านบาท