ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & ตราสารหนี้ STA ที่ “A-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 2, 2012 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจยางธรรมชาติ ตลอดจนการมีฐานลูกค้าที่กระจายตัว งบดุลที่แข็งแกร่ง ผู้บริหารที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจยางธรรมชาติ และอนาคตที่สดใสในระยะยาวของยางธรรมชาติ ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติและแนวโน้มความต้องการยางธรรมชาติที่ลดลงจากผลของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมได้เช่นเดิม โดยงบดุลและโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทนั้นเพียงพอที่จะช่วยให้บริษัทสามารถรับมือกับความผันผวนในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติและความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกได้

ทริสเรทติ้ง รายงานว่า STA เป็นผู้นำในการแปรรูปและจำหน่ายยางธรรมชาติในตลาดโลก โดยมีโรงงานแปรรูป 19 แห่งในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและอีก 2 แห่งในประเทศอินโดนีเซีย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2555 บริษัทมีกำลังการผลิตยางแปรรูปทั้งสิ้น 1,065,258 ตันต่อปี และมีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดยางธรรมชาติทั่วโลกสำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2555 อยู่ที่ 10.4% ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 9.8% ในช่วงเดียวกันของปี 2554 จากการที่บริษัทดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ผันผวนขึ้นลงตามวัฐจักร บริษัทจึงมีความเสี่ยงจากการผันผวนของอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนาน รวมทั้งการมีข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านทั้งในส่วนของอุปสงค์และอุปทานยางธรรมชาติ จึงทำให้ผู้บริหารสามารถบริหารกิจการของบริษัทผ่านวงจรธุรกิจทั้งในช่วงขาขึ้นและขาลงโดยยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 บริษัทมียอดจำหน่ายยางแปรรูปทั้งสิ้น 483,416 ตัน ซึ่งเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางประมาณ 82% ให้แก่ผู้ประกอบการโดยตรง แม้ว่ายอดขายของบริษัทจะกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมยางล้อเป็นส่วนใหญ่ แต่บริษัทก็มีฐานลูกค้าที่ค่อนข้างหลากหลายและกระจายตัวอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ บริษัทยังขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มผู้ผลิตยางล้อขนาดกลางและขนาดเล็กด้วย บริษัทมียอดส่งออกคิดเป็น 83% ของปริมาณขายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 โดยมีลูกค้าหลักคือประเทศจีนซึ่งคิดเป็น 45% ของปริมาณยอดส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 37% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปัจจุบันผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลกประกอบด้วยประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ผลผลิตโดยรวมจากทั้ง 3 ประเทศคิดเป็น 72.7% ของผลผลิตทั่วโลกที่มีปริมาณ 2.66 ล้านตันในช่วง 3 เดือนแรกปี 2555 โดยประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด ด้วยผลผลิตรวมทั้งสิ้น 0.96 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ประเทศอินโดนีเซีย (0.73 ล้านตัน) และประเทศมาเลเซีย (0.24 ล้านตัน) เมื่อพิจารณาในแง่ของการบริโภค ความต้องการยางธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจาก 7.56 ล้านตันในปี 2545 มาอยู่ที่ 10.92 ล้านตันในปี 2554 โดยประเทศจีนเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของการบริโภคทั้งหมด ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2555 การบริโภคยางธรรมชาติทั่วโลกอยู่ที่ 2.55 ล้านตัน ลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของยอดผลิตรถยนต์และความต้องการยางล้อใหม่เพื่อมาทดแทนยางล้อเก่า

อย่างไรก็ตาม ในระยะปานกลาง การบริโภคยางธรรมชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากการลดลงของความต้องการในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยการเติบโตจะมาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งนำโดยประเทศจีนและอินเดีย ทั้งนี้ ความต้องการยางธรรมชาติจะเติบโตไปพร้อมกับความต้องการยางล้อซึ่งน่าจะได้ประโยชน์จากปริมาณการผลิตรถยนต์และจำนวนรถยนต์ใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้น

อุตสาหกรรมยางแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนวัตถุดิบคิดเป็นประมาณถึง 95%-98% ของต้นทุนการแปรรูป ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติเป็นอย่างมากซึ่งส่งผลทำให้กำไรและกระแสเงินสดมีแนวโน้มแปรปรวน เพื่อที่จะรักษาระดับกำไรให้คงที่ บริษัทมุ่งเน้นที่จะเพิ่มปริมาณขายโดยการขยายส่วนแบ่งทางการตลาดเพื่อชดเชยกับอัตรากำไรที่ลดลงในช่วงที่สภาพตลาดยากลำบาก นอกจากนี้ บริษัทยังพยายามซื้อขายโดยตรงกับผู้ผลิตสินค้าและเกษตรกรเพื่อประเมินอุปสงค์และอุปทานในตลาดด้วย กระนั้นก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านราคาในช่วงที่ราคายางมีความผันผวนในระดับสูงไปได้ดังที่ปรากฎในช่วงครึ่งหลังของปี 2554จนถึงครึ่งแรกของปี 2555

ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2554 อ่อนแอกว่าที่ทริสเรทติ้งได้ประมาณการไว้ โดยถึงแม้ว่าปริมาณขายจะเติบโต 13% มาอยู่ที่ 951,935 ตันในปี 2554 แต่กำไรก็ลดลงมาอยู่ที่ 1,306 ล้านบาท โดยลดลง 66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคายางธรรมชาติมีการปรับลดลงอันเนื่องมาจากการลดลงของอุปสงค์จากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและผลกระทบจากมหาอุทกภัยในประเทศไทยเมื่อช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 แรงกดดันต่อผลการดำเนินงานของบริษัทดำเนินต่อเนื่องจนถึงครึ่งแรกของปี 2555 โดยราคายางธรรมชาติปรับตัวลดลงกว่า 30% จากผลของวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในประเทศจีน อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา (ไม่รวมการกลับรายการของการด้อยค่าของสินค้าคงเหลือ) ลดลงมาอยู่ที่ 0.13% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 เปรียบเทียบกับ 2.16% ในปี 2554

ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะมีความพร้อมในการรับมือกับวัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรม บริษัทมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแรงซึ่งเกิดจากความสำเร็จในการระดมทุนจำนวนมากในไตรมาสแรกของปี 2554 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนก็ปรับตัวดีขึ้นจาก 69% ในปี 2553 มาอยู่ที่ 50% ในปี 2554 และมาอยู่ที่ 47% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 ณ เดือนมิถุนายน 2555 ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ที่ 15,021 ล้านบาท ลดลงจาก 18,034 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2554 ซึ่งเป็นผลจากความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานที่ลดลงหลังจากที่ราคายางปรับตัวลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ