AMATA แย้มสิ้นปี 55 ยอดขายพื้นที่ถึง 3,500 ไร่ ทะลุเป้าวางไว้ 3 พันไร่

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 9, 2012 11:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ. อมตะคอร์ปอเรชัน (AMATA) เปิดเผยว่า ในปี 55 มั่นใจว่าจะสามารถปิดยอดขายที่ดินได้ 3,5000 ไร่ เกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 3,000 ไร่ และจะมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 56 ซึ่งบริษัทได้เตรียมแผนการพัฒนาพื้นที่และลงทุนในส่วนขยายเพิ่มเติมเพื่อรองรับสัดส่วนนักลงทุนหน้าใหม่ที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้น

ในช่วงครึ่งแรกปี 55 บริษัทมียอดขายที่ดินเกือบ 2,000 ไร่ และยังมีลูกค้ารอเซ็นสัญญาประมาณ 800 ไร่ คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาได้ภายในครึ่งปีหลังนี้ โดยนิคมอมตะนคร และอมตะซิตี้ เป็นพื้นที่ในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเป็นผู้ประกอบการหลักในโซนภาคตะวันออกที่ได้รับประโยชน์จากการขยายการลงทุนทางตรง โดยเฉพาะจากกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ที่ป้อนให้แก่สายการผลิตโมเดลใหม่ๆของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีทิศทางการลงทุนขยายไลน์การผลิตมากขึ้นในช่วงปีนี้

ช่วงครึ่งปีหลังจากมีทิศทางที่ดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากการรับรู้ยอดโอนที่มีมากขึ้น โดยลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นประเทศญีปุ่นร้อยละ 50-60 และลูกค้าของบริษัทมีความหลากหลาย ทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ยานยนต์ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องภาคเกษตร เป็นต้น ปัจจุบัน พื้นที่ดินนิคมฯทั้งสองแห่งที่มีการพัฒนาแล้วและพร้อมขาย 2,700 -2,800 ไร่ ขณะที่จำนวนที่ดินเปล่ารอการพัฒนามีจำนวน 11,000 ไร่ มั่นใจว่าจะสามารถรองรับการพัฒนาได้อีกหลายปี จากสถานการณ์การลงทุนที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของต่างชาติที่พร้อมย้ายฐานการลงทุนเข้าไทย และในด้านสาธารณูปโภค

อย่างไรก็ดี บริษัทเตรียมพร้อมในการลงทุนเพิ่มเติมทั้งในด้านไฟฟ้า แหล่งน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ใหม่ โดยในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาได้มีการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าขนาด 130 เมกกะวัตต์ ป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมในนิคมฯอมตะนคร และในปี 56 จะมีการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอีก 2 โรงในนิคมฯอมตะซิตี้ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคง และความมั่นใจต่อนักลงทุนที่จะย้ายฐานเข้ามามากขึ้น

นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า ในปี 56 มองว่าทิศทางการลงทุนในไทยจะมีสัญญาณที่ดีมากขึ้น เพราะไทยเป็นจุดเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งตะวันออกที่จะเป็นพื้นที่อันดับแรกๆ ที่นักลงทุนให้ความสนใจ เพราะจัดอยู่ในพื้นที่เซฟตี้โซน

อีกทั้งสถานการณ์ปัญหาข้อพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่นคาดว่าจะมีความยืดเยื้อไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นที่เข้าไปลงทุนในจีนเริ่มเบนเข็มหันมาลงทุนในไทย ขณะที่จีนมีแผนกระจายความเสี่ยงการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิตไปในฝั่งเอเชีย เพื่อลดการกีดกันทางการค้าจากประเทศทางยุโรปและอเมริกา รวมทั้งยังมีผลจากนโยบายการปรับค่าแรงของจีนที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ทำให้ประเทศอื่นๆไม่กล้าตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนในจีน

สำหรับการลงทุนในประเทศ คาดว่าจะมีการขยายการลงทุนไปยังพื้นที่ฝั่งตะวันออกมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนที่มาจากพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความสะดวกทั้งในด้านการเป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์ และมีแหล่งวัตถุดิบที่จะสามารถป้อนส่งให้กับภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบได้ และคาดว่าจะเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยไทยยังคงเป็นศูนย์กลางทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ที่ยังคงเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก และคาดว่าในปี 56 ไทยจะมียอดการผลิตและจำหน่ายกว่า 2 ล้านคัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ