บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง(THANI) ที่ระดับ “BBB+" ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB+" ด้วยเช่นเดียวกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"
บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนเงินกู้เดิมและใช้ในการขยายสินเชื่อ อันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารของบริษัทที่มีประสบการณ์สูงในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์มือสอง รวมถึงความคืบหน้าในการพัฒนากระบวนการขั้นตอนการปฏิบัติงานและระบบบริหารความเสี่ยง อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงผลประกอบการทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นและสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่คือธนาคารธนชาต(TBANK)
อันดับเครดิตของบริษัทยังได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทเนื่องจากปัจจุบันบริษัทเป็นบริษัทลูกที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารธนชาตภายใต้กฎเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนจากประเด็นกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันที่รุนแรงและคุณภาพสินเชื่อของบริษัทจากการที่ปัจจุบันบริษัทมุ่งเน้นให้สินเชื่อสำหรับรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าประสบการณ์ของผู้บริหารตลอดจนประสิทธิภาพการปฏิบัติงานที่ปรับตัวดีขึ้นและการสนับสนุนจากธนาคารแม่จะช่วยให้บริษัทสามารถขยายสินเชื่อในตลาดที่บริษัทตั้งเป้าหมายไว้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมและรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ อีกทั้งการสนับสนุนจากธนาคารแม่ยังคาดว่าจะมีอยู่อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือในด้านเงินทุนสำหรับการขยายธุรกิจ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า โครงสร้างผู้ถือหุ้นของ THANI ได้รับผลกระทบจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารนครหลวงไทยและธนาคารธนชาต โดยหลังจากประสบความสำเร็จในการควบรวมกิจการ ธนาคารธนชาตเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 48.4% ของบริษัทโดยตรง ณ ต้นเดือนพฤศจิกายน 2554 บริษัทได้ทำการปรับโครงสร้างทุนอีกครั้งโดยการขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นเดิมซึ่งธนาคารธนชาตได้ใช้สิทธิทั้งหมดของตนในการซื้อหุ้นของบริษัท ในขณะที่มีผู้ถือหุ้นอื่นไม่กี่รายที่ใช้สิทธิ ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทโดยธนาคารธนชาตเพิ่มขึ้นเป็น 65.2% ดังนั้น บริษัทจึงเปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทลูกของธนาคารธนชาต
ปัจจุบันธนาคารธนชาตได้จัดให้บริษัทเป็นหนึ่งในบริษัทลูกที่อยู่ในกลุ่มควบรวมแบบ Full Consolidation ตามกฎเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ธนาคารธนชาตเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยสินเชื่อรถยนต์คงค้างประมาณ 312 พันล้านบาท แม้ว่าธุรกิจหลักของบริษัทคือธุรกิจสินเชื่อรถยนต์จะทับซ้อนกับธุรกิจของธนาคารธนชาต ทว่าบริษัทและธนาคารก็มีตลาดเป้าหมายที่ต่างกัน
การเพิ่มทุนล่าสุดจากธนาคารธนชาตสื่อให้เห็นว่าธนาคารธนชาตมีความตั้งใจที่จะให้บริษัทเน้นกลุ่มตลาดที่ธนาคารธนชาตยังเข้าไม่ถึง ธนาคารธนชาตได้ให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทในการพัฒนากระบวนการอนุมัติสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยมีการนำนโยบายการบริหารความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ มาใช้ในบริษัทเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของธนาคารธนชาต บริษัทอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้สอดคล้องกับระบบของธนาคารธนชาต นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากธนาคารแม่และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยผ่านการกำกับดูแลธนาคารแม่ด้วย
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า หลังการปรับโครงสร้างเงินทุนในปลายปี 2549 สถานะทางการตลาดของ THANI ก็ปรับตัวดีขึ้น บริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากฐานทุนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและการกู้ยืมจากธนาคารนครหลวงไทยเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการขยายสินเชื่อของบริษัท สินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยปรับเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 53% ในช่วงปี 2549-2553 สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 1,775 ล้านบาทในปี 2549 เป็น 10,404 ล้านบาทในปี 2553 สินเชื่อยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2554 โดยปรับเพิ่มเป็น 12,483 ล้านบาท
บริษัทมีความคล่องตัวทางการเงินมากขึ้นหลังจากมีสถานะเป็นบริษัทลูกของธนาคารธนชาต บริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและในด้านการเงินที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนการขยายธุรกิจของบริษัท ส่งผลให้บริษัทสามารถยกระดับสถานะทางการตลาดได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อ โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 สินเชื่อรวมของบริษัทอยู่ในระดับ 15,232 ล้านบาท
การแข่งขันในตลาดสินเชื่อรถยนต์มือสองทั่วไปอยู่ในภาวะกดดัน ผู้ประกอบการขนาดเล็กเช่น THANI นั้นมีต้นทุนทางการเงินที่เสียเปรียบบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทจึงจำเป็นต้องแสวงหาผลิตภัณฑ์และตลาดใหม่ ๆ โดยหันไปเน้นการให้บริการสินเชื่อรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2549 สินเชื่อในกลุ่มนี้คิดเป็น 62% ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คงค้างของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 บริษัทพยายามชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การเรียกเก็บเงินดาวน์ที่เพิ่มขึ้น และการให้ชำระเช็คลงวันที่ล่วงหน้า
แม้ว่าคุณภาพสินเชื่อสำหรับรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ แต่บริษัทก็ยังคงมีความท้าทายในการดำรงผลตอบแทนในระยาวให้มีเสถียรภาพหลังจากหักเงินกันสำรองสำหรับหนี้สงสัยจะสูญแล้ว สินเชื่อสำหรับรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์จัดเป็นสินเชื่อที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ ทริสเรทติ้งยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของสินเชื่อประเภทใหม่นี้แม้ว่าบริษัทจะมีความเชี่ยวชาญในสินเชื่อมือสองสำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะก็ตาม นอกจากนี้ ปริมาณสินเชื่อสำหรับรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ก็เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น จึงยังคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์คุณภาพสินเชื่อของบริษัท
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 4.9% ในปี 2551 เป็น 2.8% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 อัตราส่วนคุณภาพสินเชื่อที่ปรับตัวดีขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายฐานสินเชื่ออย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และเช่นเดียวกันกับผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์รายอื่น ๆ บริษัทได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมปรับตัวสูงขึ้นเป็น 3.7% ณ สิ้นปี 2554 ส่งผลให้มีภาระค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเพิ่มสูงขึ้นและทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลง อัตราส่วนดังกล่าวปรับลดลงเหลือ 3.2% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555
นับตั้งแต่ปี 2551 บริษัทได้รับประโยชน์จากปัจจัยหลัก 2 ประการคือ ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดและการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการบัญชีเกี่ยวกับการตัดจำหน่ายค่าใช้จ่ายคอมมิชชั่น โดยบริษัทมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 26.7% ในปี 2552 ลดลงจากอัตราที่สูงกว่า 30% ในช่วงหลายปีก่อนปี 2551 อัตราส่วนดังกล่าวลดลงต่อไปอีกเป็น 19.8% ในปี 2553 การสนับสนุนจากธนาคารธนชาตช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 13.2% ในปี 2554 และปรับดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 13.0% สำหรับครึ่งแรกของปี 2555
THANI รายงานผลกำไรสุทธิ 204 ล้านบาทในปี 2553 เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 109 ล้านบาทในปี 2552 กำไรสุทธิรักษาระดับอยู่ที่ 205 ล้านบาทในปี 2554 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่สูงขึ้นจากผลกระทบของอุทกภัย บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองในปี 2554 จำนวน 126 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 40 ล้านบาทในปี 2553 เพื่อใช้เป็นสำรองสำหรับหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้น ความสามารถในการทำกำไรปรับตัวดีขึ้นในครึ่งแรกของปี 2555 บริษัทมีกำไรสุทธิ 177 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.2% จากกำไรสุทธิ 124 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 การแข่งขันที่รุนแรงเป็นอุปสรรคต่อผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มั่นคงและต้นทุนที่ลดต่ำลงจากธนาคารธนชาต นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินต้นทุนที่ถูกลงจากตลาดทุนทั้งจากการเสนอขายหุ้นกู้และตั๋วแลกเงิน แหล่งเงินที่มีต้นทุนลดลงช่วยให้บริษัทสามารถรักษาส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายไว้ที่ระดับประมาณ 3% สำหรับครึ่งแรกของปี 2555 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยอยู่ที่ 2.6% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) สำหรับครึ่งแรกของปี 2555 เพิ่มขึ้นจาก 1.9% ในปี 2554 และ 2.5% ในปี 2553
ฐานทุนของบริษัททรุดลงจากการระดมทุนเชิงรุกโดยการกู้ยืมเพื่อขยายสินเชื่อแม้ว่าผลประกอบการจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปี 2552 และมีการเพิ่มทุนจากการใช้สิทธิตามใบรับรองสิทธิในการซื้อหุ้นของธนาคารนครหลวงไทยในปลายปี 2552 แล้วก็ตาม อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงจาก 31.4% ในปี 2550 เป็น 13.4% ในปี 2553 และ 12.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 การปรับโครงสร้างทุนในเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมาทำให้ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นเป็น 17.2% ณ สิ้นปี 2554 แต่ปรับลดลงเป็น 14.5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 อย่างไรก็ตาม ระดับดังกล่าวยังถือว่าเพียงพอต่อการขยายสินเชื่อในอีก 2 ปีข้างหน้าภายใต้การคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง
ปัจจุบันบริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้นหลังจากมีสถานะเป็นบริษัทในเครือของธนาคารหลวงไทยซึ่งปัจจุบันคือธนาคารธนชาต ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 ประมาณ 75% ของเงินกู้ยืมรวมของบริษัทเป็นการกู้ยืมจากธนาคารแม่ บริษัทได้ชำระเงินกู้ยืมส่วนใหญ่ทั้งจากธนาคารธนชาตและสถาบันการเงินอื่น ๆ โดยใช้เงินจากหุ้นกู้ที่เสนอขายไปเมื่อต้นปี 2555 หลังจากการชำระคืนหนี้ อัตราส่วนเงินกู้ยืมจากธนาคารธนชาตก็ลดลงเหลือ 18% ของเงินกู้ยืมรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ส่งผลให้บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอจากธนาคารธนชาตสำหรับใช้ลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของบริษัท