สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (8 - 12 ตุลาคม 2555) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 313,780 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 62,756 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 20% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 82% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 258,466 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 32,298 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 8,923 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% และ 3% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 4.85 ปี) LB193A (อายุ 6.4 ปี) และ LB21DA (อายุ 9.2 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 7,896 ล้านบาท 5,054 ล้านบาท และ 4,495 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB12O30A (อายุ 14 วัน) CB12N08C (อายุ 28 วัน) และ CB13110C (อายุ 91 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 49,866 ล้านบาท 38,307 ล้านบาท และ 31,890 ล้านบาท ตามลำดับ
ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (MBK137A (A)) มูลค่าการซื้อขาย 861 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) (AYCAL145A (A+)) มูลค่าการซื้อขาย 644 ล้านบาท และ หุ้นกู้ของ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) (SPALI135A (A-)) มูลค่าการซื้อขาย 607 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ หรือปรับตัวขึ้นลงอยู่ในช่วงประมาณ -2 ถึง +2 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ปรับตัวลดลงกว่า 20% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า หลังจาก IMF ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกเหลือ 3.3% ในปี 2555 และ 3.6% ในปี 2556 สอดคล้องกับมุมมองของธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศ เช่น ปากีสถาน บราซิล เกาหลีใต้ ที่ต่างก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของตนเองลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทางด้านสถานการณ์ในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) เริ่มกลับมามีผลกดดันบรรยากาศการลงทุนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของประเทศสเปนลง 2 ขั้น จาก BBB+ เป็น BBB- พร้อมกับให้แนวโน้มเป็น “เชิงลบ” รวมถึงการที่ Moody’s ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลประเทศไซปรัสลง 3 ขั้น จาก Ba3 เป็น B3 สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ มีผลทำให้บรรยากาศการลงทุนกลับมาปรับตัวแย่ลง หลังจากที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลายๆสัปดาห์ก่อนหน้านี้
นอกจากนี้แล้ว สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้มูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้ไทยในสัปดาห์นี้ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก เกิดจากการชะลอการลงทุนของนักลงทุนในตลาด เพื่อรอดูความชัดเจนของผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 ตุลาคม 2555 ที่จะถึงนี้ ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยหรือไม่
ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภทรวมกัน (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) 10,472 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิ 1,214 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อย (Individual) ที่ถึงแม้จะมีสัดส่วนการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างน้อย แต่ในสัปดาห์นี้มียอดซื้อสุทธิ 188 ล้านบาท