พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) แถลงผลการประมูลใบอนุญาตให้บริการ 3G คลื่นความถี่ 2.1GHz ปรากฎว่า บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด ในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) เป็นผู้ประมูลราคารวมสูงสุด 14,625 ล้านบาท
ทั้งนี้ ADVANC เป็นผู้ได้สิทธิเลือกชุดคลื่นความถี่เป็นรายแรก โดยได้ชุดความถี่ที่ 7,8,9 หรือ G-H-I คือ ช่วงคลื่นความถี่วิทยุ 1950-1955 MHz คู่กับ 2040-2045 MHz ,ช่วงคลื่นความถี่วิทยุ 1955-1960 MHz คู่กับ 2145-2150 MHz และช่วงคลื่นความถี่วิทยุ 1960-1965 MHz คู่กับ 2150-2155 MHz
อนึ่ง ช่วงคลื่น G-H-I เป็นตำแหน่งคลื่นที่ติดกับ บมจ.ทีโอที ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดสำหรับการใช้งาน และปัจจุบัน ทีโอทีกับ ADVANC เป็นคู่สัมปทานและมีการแชร์สถานีฐานเพื่อให้บริการร่วมกัน
ส่วนบริษัท ดีแทค เน็ทเวิร์ค จำกัด ในเครือ บมจ.โทเทิ่ล แอ็สเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) และบริษัท เรียลมูฟ จำกัด ในเครือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE)เสนอราคาประมูลรวมเท่ากันที่จำนวนเงิน 13,500 ล้านบาท แต่ TRUE จับสลากได้เป็นผู้เลือกย่านความถี่เป็นอันดับที่ 2 และ DTAC เลือกย่านความถี่เป็นลำดับ 3
TRUE ได้ชุดคลื่นความถี่ 4, 5, 6 หรือ D-E-F คือ ช่วงคลื่นความถี่วิทยุ 1935-1940 MHz คู่กับ 2125-2130 MHz, ช่วงคลื่นความถี่วิทยุ 1940-1945 MHz คู่กับ 2130-2135 MHz และช่วงคลื่นความถี่วิทยุ 1945-1950 MHz คู่กับ 2135-2140 MHz
และ DTAC ได้ชุดคลื่นความถี่ 1, 2, 3 หรือ A-B-C คือช่วงคลื่นความถี่วิทยุ 1920-1925 MHz คู่กับ 2110-2115 MHz , ช่วงคลื่นความถี่วิทยุ 1925-1930 MHz คู่กับ 2115-2120 MHz และช่วงคลื่นความถี่วิทยุ 1930-1935 MHz คู่กับ 2120-2125 MHz
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า การประมูล 3G คลื่นความถี่ 2.1 MHz กสทช. ดำเนินการทุกขั้นตอน ถูกต้องตามกฎหมายและดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้แต่แรก คือ กสทช.จะจัดสรรคลื่นคงามถี่ให้ได้ทั้ง 45 MHz เพื่อรองรับสัมปทานจะหมดสัญญาในอนาคต โดยคำนึงถึงความสมดุลของประโยชน์สำหรับประชาชนผู้บริโภค
"กสทช.ยอมรับว่าเรารู้สึกเจ็บปวดแต่เราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เราขอก้มหน้าก้มตายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้"รองประธาน กสทช.กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ยื่นฟ้องศาลปกครองต่อกรณีการหน้าที่ของ กสทช.
ขณะที่ นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช.กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีกลุ่มใดฟ้องร้อง กสทช.เกี่ยวกับประมูลก็ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย แต่ก็ขอชี้แจงไม่ได้ประมูลใบอนุญาตในราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากราคาตั้งต้นอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท/สล็อต
แม้ว่านักวิชาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเคยเสนอราคาเริ่มต้นประมูลที่ 6,440 ล้านบาท/สล็อต แต่ กสทช.ได้กำหนดราคาตั้งต้นที่ 67% ของมูลค่าคลื่น ซึ่งหากตั้งราคาเท่ากับที่ระบุไว้ก็อาจเกิดเหตุการณ์ไม่มีผู้เข้าประมูลจะยิ่งทำให้เสียหาย ซึ่งเราต้องดูกลไกตลาดด้วย แต่หลังจากนี้ กสทช.จะดูแลกติกาการให้บริการต่อไป
"เราไม่สามารถกำกับดูแลได้ทุกอย่าง ต้องปล่อยให้เป็นไปตากติกา ถ้าบอกราคาต่ำไปและบอกว่ากสทช.ฮั้วเท่ากับทำผิดกฎหมาย จึงอยากขอยืนยันว่ากระบวนการต่างๆทำตามกฎหมาย และวันนี้เป็นความสำเร็จที่เกิดการจัดสรรคลื่นความถี่"นายสุทธิพล กล่าว