ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศอันดับเครดิตสากลระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating (IDR)) ที่ ‘BBB-’ และอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ ‘AA(tha)’ ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ IBANK โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ สำหรับรายละเอียดอันดับเครดิตอื่น แสดงไว้ในส่วนท้าย
อันดับเครดิตของ IBANK สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ที่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย หากมีความจำเป็น โดยมุมมองดังกล่าวพิจารณาจากสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐทั้งทางตรงและทางอ้อมในระดับที่สูง (93.7%) การควบคุมกำกับอย่างใกล้ชิดจากภาครัฐ รวมถึงการที่ IBANK มีสถานะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (specialized financial institution หรือ SFI) ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเนื่องจากธนาคารมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลและการสนับสนุนด้านการเงินที่ผ่านมาจากรัฐบาล IBANK มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามนโยบายรัฐในการให้บริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลามแก่ประชาชนไทยและธุรกิจในประเทศ รวมทั้งสนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิมในภาคใต้ของประเทศไทย
อันดับเครดิตของ IBANK อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นอีก 3 แห่งที่ฟิทช์มีการจัดอันดับเครดิตไว้ คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (‘AAA(tha)’/แนวโน้มมีเสถียรภาพ) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (‘BBB’/‘AAA(tha)’/แนวโน้มมีเสถียรภาพ) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (‘AA+(tha)’/แนวโน้มมีเสถียรภาพ) เนื่องจาก IBANK มีสัดส่วนการถือหุ้นโดยตรงจากภาครัฐที่ต่ำกว่า และการระบุถึงการสนับสนุนที่รัฐบาลจะให้กับธนาคารในพระราชบัญญัติ (พรบ.) จัดตั้งธนาคารมีความชัดเจนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ 3 แห่งที่กล่าวมาข้างต้น
การเปลี่ยนแปลงความเห็นของฟิทช์ในด้านความตั้งใจหรือความสามารถของรัฐบาลในการให้การสนับสนุนแก่ IBANK ซึ่งอาจรวมถึงการลดสัดส่วนการถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญของรัฐบาล อาจส่งผลให้อันดับเครดิตของธนาคารมีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้นเนื่องจากอันดับเครดิตสากลของประเทศไทยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพและ IBANK ยังคงมีบทบาทที่สำคัญในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล
IBANK อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการธนาคาร การดำเนินงานของธนาคารได้รับการตรวจสอบโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในขณะที่งบการเงินของธนาคารได้รับการตรวจสอบโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาธนาคารได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลในรูปแบบของการเพิ่มทุนในปี 2550 และ ปี 2553 และคาดว่าจะได้รับเงินเพิ่มทุนภายในช่วงต้นปี 2556 การสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐโดยทั่วไปจะต้องได้รับมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีช่องทางอื่นในการให้การสนับสนุนทางการเงิน เช่น การกู้ยืมเงินจากธนาคารเฉพาะกิจอื่นที่มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งน่าจะช่วยให้รัฐบาลสามารถให้การสนับสนุนแก่ธนาคารได้ทันท่วงที หากมีความจำเป็น
IBANK มีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงในปี 2554 โดยมีกำไรสุทธิ 0.5 พันล้านบาท ลดลง 55% จากปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เนื่องจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้เกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เข้มงวดขึ้น ตามข้อเสนอแนะของธนาคารแห่งประเทศไทย และการใช้นโยบายบัญชีใหม่ ทั้งนี้ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน โดย IBANK มีผลขาดทุนสุทธิที่ 3.1 พันล้านบาท ในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 (ตามงบการเงินก่อนสอบทาน) ในขณะเดียวกันคุณภาพสินทรัพย์ได้ปรับตัวอ่อนแอลง โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 9.2% เทียบกับ 8.4% ณ สิ้นปี 2554
ฟิทช์มองว่าคุณภาพสินทรัพย์อาจจะยังคงปรับตัวอ่อนแอลงต่อเนื่อง เนื่องจากธนาคารมีสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษในระดับสูง (ประมาณ 9.7% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2554) การขยายสินเชื่อในระดับที่สูงมากในอดีต รวมทั้งเกณฑ์การพิจาณาอนุมัติสินเชื่อที่อ่อนแอ นอกจากนี้ธนาคารยังมีฐานเงินฝากที่อ่อนแอ และมีการกระจุกตัวของเงินฝากในระดับสูง ผลการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอของธนาคารน่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลกำไรและเงินกองทุนของธนาคาร
แต่อย่างไรก็ดีการสนับสนุนจากรัฐบาลน่าจะช่วยลดความเสี่ยงในด้านการระดมเงินทุนและสภาพคล่องของ IBANK อัตราส่วนเงินกองทุนรวม (ตามเกณฑ์ Basel I) ของ IBANK อยู่ที่ 10.2% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2555 แต่อัตราส่วนเงินกองทุนดังกล่าวอาจปรับตัวลงอย่างมาก หากผลการดำเนินงานของธนาคารยังคงปรับตัวอ่อนแออย่างต่อเนื่อง IBANK คาดว่าจะได้รับเงินเพิ่มทุนจำนวน 0.8 พันล้านบาทภายในช่วงต้นปี 2556 ซึ่งน่าจะช่วยเสริมเงินกองทุนของธนาคาร ธนาคารยังคงมีแผนที่จะขอเพิ่มทุนอีกในปี 2556 อย่างไรก็ตามการเพิ่มทุนดังกล่าวต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการคลังก่อน
IBANK จัดตั้งขึ้นตาม พรบ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 โดยในปัจจุบันกระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 48.5% ในขณะที่ธนาคารรัฐอีก 2 แห่ง ซึ่งได้แก่ ธนาคารออมสิน (อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’) และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (‘BBB’/ ‘AA+(tha)’/แนวโน้มมีเสถียรภาพ) มีสัดส่วนการถือหุ้นที่ 39.8% และ 9.8% ตามลำดับ ตาม พรบ. ดังกล่าว สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังถูกจำกัดไว้ที่ไม่เกิน 49%