บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของกรุงเทพมหานครที่ระดับ “AA+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานภาพของเขตกรุงเทพมหานครในฐานะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงแหล่งรายได้ที่แน่นอนจากภาษีอากร รวมทั้งการบริหารงบประมาณที่มีประสิทธิภาพภายใต้นโยบายงบประมาณแบบสมดุล และฐานะการเงินที่แข็งแกร่งจากการมีภาระหนี้สินที่ต่ำและการดำรงเงินสะสมในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวลดทอนลงจากความต้องการในการลงทุนเป็นอย่างมากในโครงการด้านสาธารณูปโภคและระบบขนส่งมวลชน ตลอดจนภาระทางการเงินที่อาจเพิ่มขึ้นจากการถ่ายโอนภารกิจจากรัฐบาลกลางให้แก่กรุงเทพมหานครภายใต้นโยบายการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในขณะที่กรุงเทพมหานครมีข้อจำกัดในการจัดหาแหล่งรายได้เพิ่ม นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่จะต้องติดตามความคืบหน้าด้วยเช่นกัน เช่น การนำเสนองบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบภายในกรอบเวลาที่เหมาะสม การบริหารจัดการหนี้สินและการลงทุนให้มีความสอดคล้องกับระดับรายได้ และการพัฒนากรอบวินัยในการบริหารหนี้ให้เป็นรูปธรรม
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการมีแหล่งรายได้ที่แน่นอนและนโยบายการบริหารงบประมาณแบบสมดุลของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ากรุงเทพมหานครจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางอย่างต่อเนื่องตลอดไป อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครจะต้องรักษาวินัยทางการเงินเพื่อให้สามารถบริหารงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและคงความแข็งแกร่งทางการเงินให้อยู่ในระดับสูง รวมถึงการลงทุนและการก่อหนี้ในอนาคตก็จะต้องได้รับการศึกษาและวางแผนอย่างรอบคอบให้เหมาะสมกับระดับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของกรุงเทพมหานครด้วยเช่นกัน
ทริสเรทติ้งรายงานว่า กรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่บริหารราชการและบริหารจัดการกิจการสาธารณูปโภคเพื่อให้บริการแก่ผู้อยู่อาศัยและผู้ประกอบกิจการในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศ ในปี 2553 กรุงเทพมหานครมีผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด (Gross Provincial Product — GPP) สูงที่สุดในประเทศ ด้วยมูลค่า 3.14 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 29% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product — GDP) ในด้านการเงินการคลังนั้น กรุงเทพมหานครมีรายได้หลักโดยประมาณ 92%-95% มาจากภาษีอากร โดยเป็นภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองประมาณ 20% และส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ประมาณ 69%-76% ภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองกว่า 90% มาจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน ในขณะที่ภาษีที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ประมาณครึ่งหนึ่งมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีภาษีหรือค่าธรรมเนียมรถยนต์และภาษีหรือค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 23% และ 18% ตามลำดับในปีงบประมาณ 2554
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนภาษีหรือค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อภาษีที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ทั้งหมดลดลงเหลือประมาณ 10% ในระหว่างปีงบประมาณ 2552-2553 อันเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลซึ่งเป็นการลดภาษี/ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ปัจจุบันมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวหมดอายุไปแล้วเมื่อปีงบประมาณ 2554 ทั้งนี้ ภาษีอากรนับว่าเป็นแหล่งรายได้ที่มีความแน่นอนสูงของกรุงเทพมหานครแม้จะมีความผันผวนอยู่บ้างตามภาวะเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาลกลาง
ในปีงบประมาณ 2554 เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้กรุงเทพมหานครได้รับจัดสรรภาษีจากรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น โดยกรุงเทพมหานครจัดเก็บรายได้คิดเป็น 125% ของประมาณการรายได้รวมจำนวน 46,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 24% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาษีที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้เพิ่มขึ้นกว่า 32% จากปีก่อน ในขณะที่กรุงเทพมหานครมีค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน จึงส่งผลให้เงินสะสมของกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นจาก 17,046 ล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2553 เป็น 20,144 ล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2554 แม้กรุงเทพมหานครจะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 แต่ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจหลังอุทกภัย ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีรายได้ของกรุงเทพมหานครปรับตัวสูงขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันในปีงบประมาณ 2554
เหตุการณ์อุทกภัยทำให้ กรุงเทพมหานครตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจำนวน 15,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2555 โดยส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการลงทุนและปรับปรุงระบบระบายน้ำ กรุงเทพมหานครมีภาระหนี้สินเพิ่มสูงขึ้นจากภาระการกู้เงินของบริษัทลูกคือ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อใช้ในการลงทุนก่อสร้างโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครส่วนต่อขยายสีลม (ตากสิน-เพชรเกษม) และภาระผูกพันจากสัญญาว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ให้เป็นผู้รับจ้าง จัดหา และให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยทริสเรทติ้งจะพิจารณามูลค่าปัจจุบันของค่าจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเป็นภาระหนี้ ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2555 ฐานะทางการเงินของกรุงเทพมหานครคาดว่าจะอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากรายจ่ายและภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี กรุงเทพมหานครมีการดำรงสภาพคล่องในระดับที่น่าพอใจโดยมีเงินสะสมในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
แม้ในเขตกรุงเทพมหานครจะมีระดับการพัฒนาที่ก้าวหน้ากว่าท้องถิ่นอื่น แต่ก็ยังคงมีความต้องการในการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการของประชากรจำนวนมาก รวมทั้งเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจและการลงทุนในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ กิจการสาธารณูปโภคต่าง ๆ มีทั้งที่กรุงเทพมหานครริเริ่มดำเนินการเองและที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจมาจากรัฐบาลภายใต้นโยบายการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้กรุงเทพมหานครมีความต้องการเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายผูกพันในอนาคตจำนวนมาก ถึงแม้กรุงเทพมหานครจะได้รับเงินอุดหนุนรายปีจากรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการต่าง ๆ เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็อาจไม่เพียงพอ อีกทั้งกรุงเทพมหานครยังมีแผนการลงทุนในโครงการระบบขนส่งมวลชนที่ต้องการเงินลงทุนสูง ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ลงทุนผ่านบริษัทกรุงเทพธนาคม ทริสเรทติ้งคาดหวังว่ากรุงเทพมหานครจะดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ โดยผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบทั้งในด้านกฎหมายและในด้านการเงินอย่างมีนัยสำคัญ