นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ที เอส ฟลาวมิลล์(TMILL) เปิดเผยว่า บริษทเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 85 ล้านหุ้นในเดือน พ.ย.นี้ โดยเงินที่ได้ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ยยายการลงทุน เพิ่มกำลังการผลิตแป้งสาลี จาก 250 ตันข้าวสาลีต่อวัน เป็น 500 ตันข้าวสาลีต่อวัน ซึ่งจะทำให้บริษัทเป็นผู้ผลิตแป้งสาลีรายใหญ่ 1 ใน 3 ของไทย โดยจะใช้เงินลงทุน 550 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ผลิตแป้งสาลี รวมถึงถังไซโลสำหรับเก็บวัตถุดิบข้าวสาลีและแป้งสาลี 1 ชุด ซึ่งจะเริ่มสร้างในปี 56
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนขยายฐานลูกค้าให้หลากหลายมากขึ้น ครอบคลุมผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กมากขึ้นจากเดิมที่เน้นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมถึงขยายฐานลูกค้าในต่างจังหวัดมากขึ้นจากเดิมเน้นขายให้ลูกค้าในกรุงเททและปริมณฑล
ด้านนายนิธิกรณ์ ศรีคิรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทที่ปรึกษา เอเชียพลัส ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า บริษัทคาดว่าจะกำหนดราคาขายหุ้นได้ภายในวันที่ 26 ต.ค.55 โดยหุ้นเพิ่มทุน 85 ล้านหุ้นจะขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม ได้แก่ บริษัท ไทยซูการ์ เทอร์มิเนิล ตามสัดส่วนการถือหุ้นไม่เกิน 25.35 ล้านหุ้น และขายให้ประชาชนทั่วไปไม่น้อยกว่า 59.65 ล้านหุ้น
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะสามารถขายหุ้นได้กลางเดือน พ.ย.และนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ(mai)ช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ โดยนำเงินที่ได้นำคืนชำระเงินกู้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยขณะนี้พบว่านักลงทุนให้ความสนใจเข้าซื้อหุ้นบริษัทค่อนข้างดี และภาพรวมตลาดหุ้นรวมถึงการขายหุ้น IPO อยู่ในช่วงที่ดี ประกอบก้บ บริษัทอยู่ในกลุ่มอุปโภคบริโภคที่มีพื้นฐานที่ดี
นายชาญกฤช กล่าวว่า บริษัทเตรียมแบ่งกำไรสะสมที่มีกว่า 150 ล้านบาทมาจัดสรรเป็นเงินปันผลระหว่างกาลจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน 100 ล้านบาทก่อนที่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ขณะที่บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 50%ของกำไรสุทธิ หากไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม
สำหรับภาพรวมในปี 55 คาดว่ารายได้รวมจะเติบโต 20% จากปีก่อนที่มีรายได้ราว 800 ล้านบาท โดยช่วงครึ่งปีแรกของปี 55 มีรายได้แล้ว 555 ล้านบาท ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นคาดว่าจะไม่ต่ำกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับ 18.2% โดยช่วงครึ่งปีแรกมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 15%
หลังการขยายกำลังการผลิตแป้งสาลี บริษัทคาดว่าจะทำให้รายได้และกำไรในปี 57 เติบโตเป็นเท่าตัว เนื่องจากมีต้นทุนลดลง ซึ่งจะทำให้มาร์จิ้นเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็จะขยายตลาดไปยังพื้นที่ที่ยังเข้าไม่ถึง และมีโอกาสขยายปริมาณขายให้กับลูกค้ามากขึ้น หลังมีการขยายกำลังการผลิต จากปัจจุบันที่ควบคุมปริมาณการขายที่ 30% ต่อราย
นอกจากนี้ หลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 58 บริษัทมีแผนจะส่งออกสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนี้มีการเจรจากับเอเย่นต์หลายรายอยู่