KBANK จับมือธนาคารพันธมิตรจีน 19 แห่ง พัฒนาเครือข่ายแฟคเตอริ่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 29, 2012 11:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 หรือ ความร่วมมืออาเซียน+3 ได้แก่ ประเทศในอาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้ง จีน เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น จะช่วยให้สภาพเศรษฐกิจของเอเชียมีความมั่นคงมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันจีนถือเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งและเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับสองของไทย ด้วยมูลค่าการค้าระหว่างไทยและจีนปีที่แล้วสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท

ธนาคารเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเติบโตในการทำธุรกิจและการลงทุนระหว่างประเทศไทยและจีนที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารฯ เร่งพัฒนารูปแบบการทำ ธุรกรรมและการชำระเงินระหว่างประเทศให้มีความหลากหลายครบวงจรมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพของการบริการทางการค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้นำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศ จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับธนาคารจากประเทศจีน 6 แห่ง ที่เป็นสมาชิกสมาคมแฟคเตอริ่งระหว่างประเทศ (Factors Chain International หรือ FCI) ได้แก่ ธนาคารไชน่าหมิงเซิง ธนาคารผิงอัน ธนาคารจาวซาง ธนาคารเพื่อการพัฒนาผู่ตงแห่งเซี่ยงไฮ้ ธนาคารแห่งเซี่ยงไฮ้ และธนาคารเปาซาง เพื่อร่วมกันพัฒนาบริการแฟคเตอริ่งระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ KBANK และธนาคารจีนที่เป็นสมาชิกสมาคมแฟคเตอริ่งระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะรับซื้อลูกหนี้ทางการค้าระหว่างกัน และยังให้บริการเรียกเก็บลูกหนี้จากลูกหนี้การค้าระหว่างกันด้วย เพื่อสร้างความคล่องตัวในการดำเนินงานของธุรกิจของผู้ซื้อหรือผู้ขายทั้งฝั่งไทยและจีน นอกจากนี้ ยังมีบริการที่ครอบคลุมด้านการให้สินเชื่อทางธุรกิจ นับเป็นการช่วยป้องกันความเสี่ยงด้านการค้าระหว่างประเทศและช่วยอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจระหว่างประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่น

นายบัณฑูร กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่ครอบคลุมการบริการแฟคเตอริ่งระหว่างไทยจีนที่ใหญ่ที่สุด มีมูลค่าการทำแฟคเตอริ่งของความร่วมมือประมาณ 29,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในส่วนของธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้น อีกทั้งสามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้ส่งออกในการทำการค้ากับผู้ซื้อแต่ละราย รวมถึงระดับปริมาณการค้าที่เหมาะสมและช่วยสร้างความคล่องตัวในการทำธุรกิจผ่านการให้สินเชื่ออีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ