สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (22 - 26 ตุลาคม 2555) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม มีมูลค่ารวม 363,361 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 90,840 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 5% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 77% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 280,419 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 65,542 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 4,991 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18% และ 1% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 4.85 ปี) LB155A (อายุ 2.6 ปี) และ LB145B (อายุ 1.6 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 17,445 ล้านบาท 12,844 ล้านบาท และ 7,971 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB12N22C (อายุ 28 วัน) CB13124B (อายุ 91 วัน) และ CB12N01A (อายุ 14 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 35,717 ล้านบาท 34,680 ล้านบาท และ 15,704 ล้านบาท ตามลำดับ
ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (รุ่น TLT138A (AAA) และรุ่น TLT12DA (AAA)) มูลค่าการซื้อขาย 764 ล้านบาท และ 562 ล้านบาท ตามลำดับ และหุ้นกู้ของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC188B (A-)) มูลค่าการซื้อขาย 415 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น / ลงลดในช่วงประมาณ -2 ถึง +1 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินของประเทศสเปนเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลสเปนเตรียมที่จะขอรับเงินช่วยเหลือเพื่อปรับโครงสร้างของธฯคารภายในประเทศจำนวน 6 หมื่นล้านยูโร ในขณะที่ความกังวลภายในประเทศกรีซเริ่มผ่อนคลายลง หลังจากกลุ่ม Troika (EU + IMF + ECB) ได้อนุมัติให้ขยายช่วงเวลาของแผนปฏิรูปการคลังของกรีซออกไปอีก 2 ปี นอกจากนี้แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับ 0 — 0.25% ต่อไป พร้อมกับดำเนินมาตรการ Operation Twist ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี ปัจจัยบวกเหล่านี้มีผลทำให้นักลงทุนหันเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้อัตราผลตอบแทน (Yield) ในตลาดตราสารหนี้ของหลายๆ ประเทศเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ
เช่นเดียวกันกับความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทย ที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ ตลอดทั้งสัปดาห์ หลังจากที่ในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น (15 — 19 ต.ค.) อัตราผลตอบแทนในตลาดปรับตัวลดลงไปค่อนข้างมากแล้ว ตามการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ค่อนข้างสวนทางไปจากการคาดการณ์ของนักลงทุน
ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภทรวมกัน (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) 14,658 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิ 3,621 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อย (Individual) ที่ถึงแม้จะมีสัดส่วนการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างน้อย แต่ในสัปดาห์นี้มียอดซื้อสุทธิ 158 ล้านบาท