ทั้งนี้ เนื่องจากราคาสุดท้ายของทั้ง 2 บริษัท จบลงที่ใบละ 4,500 ล้านบาทเท่าเดิม ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) จากการที่ไม่ได้เคาะราคา หรือ เคาะราคาเท่าเดิม แสดงถึงการกระทำที่ผิดปกติ โดยคณะทำงานจะเรียกผู้ให้บริการทั้ง 3 รายเข้าชี้แจงในวันที่ 7 พ.ย. 55 นี้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า กสทช.จะไม่สามารถก้าวก่ายการตรวจสอบของคณะทำงานได้ แต่ไม่ต้องการเห็นผลการตรวจสอบออกมาในเชิงบวก โดยหากผลการตรวจสอบออกมาในเชิงลบจะนำเสนอคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ทันที แต่หากผลการตรวจสอบเป็นไปในทางบวกคณะทำงานก็จะขอพิจารณาก่อน
“คณะทำงานชุดดังกล่าวได้แจ้งว่า เมื่อเข้ามาทำงาน ขออย่าให้มีการแทรกแซงการทำงาน เนื่องจากการทำงานครั้งนี้ ไม่ได้เบี้ยประชุมและต้องการทำงานอย่างอิสระ อีกทั้งยังต้องรับผิดชอบผลที่ออกมาทั้งหมดไม่ว่าผลจะออกมาอยางไร รวมทั้ง เดินหน้าต่อไป แม้ว่าจะมีการฟ้องร้องตามมา โดยได้ประชุมครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ต.ค. และจะนัดเอกชนมาคุยอีกครั้งวันที่ 7 พ.ย. โดยตั้งเป้าจะให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 10 พ.ย.2555 หรือ อย่างช้าสุดภายในระยะเวลา 1 เดือน ตามกรอบที่ กทค. กำหนด ซึ่งขณะนี้ทุกอย่างยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด” นายฐากร กล่าว
นอกจากคณะทำงานชุดดังกล่าวที่ได้มีการตรวจสอบการเคาะราคาไลเซ่นส์ 3จี ดังกล่าวแล้ว กระบวนการตรวจสอบของหน่วยงานสำคัญของประเทศ คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจรติตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลของกสทช.และอำนาจการรับรองผลประมูลของบอร์ดกทค. ที่ยังไม่ชัดเจน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การให้ไลเซ่นส์กับเอกชนไม่เป็นไปตามกำหนดเดิมที่วางไว้ คือวันที่ 23 พ.ย. 55 ซึ่งนั่นก็หมายถึงการที่ กทค.จะไม่สามารถระบุเวลาที่ชัดเจนได้จนกว่าการตรวจสอบจะสิ้นสุด