ธ.ไทยเครดิตฯ ดึงผู้บริหารมืออาชีพปรับกลยุทธ์เน้นสินเชื่อคนค้าขาย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 1, 2012 11:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับโครงสร้างทีมผู้บริหาร โดยดึงมืออาชีพทั้ง นายวิญญู ไชยวรรณ เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายรอย กุนารา เป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่

สำหรับนายวิญญู เป็นผู้บริหารในกลุ่มไทยประกันชีวิต ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารไทยเครดิต และดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารเมื่อปี 50

ส่วนนายรอย กุนารา เป็นผู้เชี่ยวชาญในสายงานธนาคารและการเงิน Head of Risk ที่ GE Money ประเทศไทย และตำแหน่งประธานคณะเจ้าหน้าที่กลุ่มงานลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังผ่านการทำงานจาก Fullerton สิงคโปร์ ซึ่งเป็นธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ด้วย

ธนาคารมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารเพื่อตอบรับกลยุทธ์นโยบายการทำธุรกิจใหม่ โดยจะเน้นที่ผลิตภัณฑ์สินเชื่อคนค้าขาย ซึ่ง 6 ปีที่ผ่านมา ธนาคารเติบโตในธุรกิจสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ และสินเชื่อ SME ซึ่งต้องแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ จึงพิจารณาโอกาสทางธุรกิจของสินเชื่อคนค้าขายซึ่งเป็นตลาดใหญ่ และยังมีปริมาณลูกค้าที่เข้าไม่ถึงบริการของธนาคารอีกมาก โดยธนาคารได้ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อคนค้าขาย และด้านการบริหารความเสี่ยงเพื่อมาเสริมทีมในการทำตลาดนี้

ปัจจุบัน ธนาคารยังคงดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์อยู่ในเกณฑ์สูง คือ 12.50% และเพื่อสร้างความแข็งแกร่งพร้อมรองรับการเติบโตในธุรกิจ กลุ่มผู้ถือหุ้นจึงมีแผนที่จะเพิ่มทุน 1,000 ล้านบาท โดยจะเพิ่มทุน 500 ล้านบาทภายในปีนี้และอีก 500 ล้านบาทภายในสิ้นปีหน้า และขณะนี้ทางธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มผู้ร่วมทุนที่สนใจร่วมลงทุนกับธนาคาร

สินทรัพย์รวม 24,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ ก.ย. 55) ประกอบด้วย สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อทอง และสินเชื่อ SME ซึ่งขณะนี้ ธนาคารได้ลดปริมาณการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวลง มาเน้นการปล่อยสินเชื่อคนค้าขายอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ธนาคารยังมีธุรกิจสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ธนบรรณ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้ารายย่อยเช่นกัน

ที่ผ่านมาเนื่องจากลูกค้าของธนาคารอยู่ในเขตปริมณฑลทำให้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จึงส่งผลให้ในช่วงกลางปีปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารขยับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีการปรับตัวลดลง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ธนาคารได้ปรับกลยุทธ์ในการเร่งรัดหนี้สิน ทำให้ NPL (ณ ก.ย. 55) อยู่ที่ 4.35% และคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ