ทั้งนี้ การร่วมกิจการของธนาคารเกียรตินาคิน(KK) และบมจ.ทุนภัทร(PHATRA)แล้วเสร็จมีผลตามกฎหมายในวันที่ 13 ก.ย.55 ส่งผลให้ KK ถือหุ้น PHATRA คิดเป็น 99.928% และธนาคารจะดำเนินการโอนหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ใน บล.เกียรตินาคิน และบลจ.เกียรตินาคิน ให้แก่ PHATRA ตามแผนการร่วมกิจการ คาดว่าจะดำเนินการประมาณ ต้นปี 2556 และจากนี้ไปธนาคารและภัทร ซึ่งรวมเรียกว่า “กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน-ภัทร"
นายธวัชชัย สุทธิกิจไพศาล ประธานธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ KK กล่าวว่า สินเชื่อของธนาคารในปีนี้จะเติบโต 24% โดยไตรมาส 4/55 จะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 3/55 และคาดว่าในปี 56 สินเชื่อจะเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 20% ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นหลัก และจะมีขยายสินเชื่อในธุรกิจเอสเอ็มอี 5 ประเภท คือ อสังหาริมทรัพย์ อพาร์ทเม้นท์ ขนส่ง ฟลอร์แพลน สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ขณะที่ธนาคารเตรียมขยายธุรกิจสินเชื่อในกลุ่มใหม่เพิ่มเติม
ธนาคารคาดว่าในสิ้นปี 56 พอร์ตสินเชื่อคงค้างจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนล้านบาท จากปัจจุบัน 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 1.2 แสนล้านบาท และสินเชื่ออื่น ๆ 4 หมื่นล้านบาท
สำหรับการระดมเงินฝาก โดยเฉพาะสาขาต่างจังหวัดมีโอกาสขยายตัวค่อนข้างมาก ซึ่งธนาคารมีแผนจะขยายสาขา 15 แห่งทุกปี จากปัจจุบันธนาคารมี 85 สาขา
ด้านนายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานธุรกิจตลาดทุน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ KK กล่าวว่า ในส่วนตลาดทุนจะดูแลธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนให้กับลูกค้าบุคคล ซึ่งแต่เดิม PHATRA มีแต่ลูกค้ารายใหญ่ แต่หลังจากควบรวมกับ KK ทำให้มีฐานลูกค้าของธนาคารเข้าไปเพิ่มขึ้น ซึ่งสัดส่วน 87% เป็นลูกค้ารายกลางและรายใหญ่ของฐานเงินฝาก 1.2 แสนล้านบาท ในส่วนนี้ PHATRA ก็จะเป็นผู้ดูแล ขณะที่ลูกค้ารายย่อยที่มีอยู่ประมาณ 13% หรือรายมีเงินฝากต่ำกว่า 2 ล้านบาท/ราย บล.เกียรตินาคิน ก็จะเข้ามาดูแล
การให้คำปรึกษาจะมุ่งเน้นการให้ผลตอบแทนหรือให้ประโยชน์กับลูกค้าเป็นหลัก ดังนั้น ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนที่ PHATRA เคยมีลูกค้า 1.7 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับลูกค้าของธนาคารอีก 1 แสนล้านบาท รวมเป็น 2.7 แสนล้านบาท เชื่อว่าตัวเลขนี้จะเป็นตัวตั้งต้นในการให้บริการธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนให้เติบโตไปได้ ขณะเดียวกันลูกค้าของ PHATRA ก็สามารถเข้ามาเป็นลูกค้าเงินฝากของธนาคารได้
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจอินเวสท์เม้นท์ แบงก์กิ้งที่ดำเนิการภายใต้ บล.ภัทร โดยในด้านเทรดดิ้งหุ้น บล.ภัทร มีส่วนแบ่งตลาด 4% ขณะที่ บล.เกียรตินาคิน มีส่วนแบ่งตลาด 1.7% รวมเป็น 5.7% นอกจากนี้ยังมี บลจ.เกียรตินาคินที่จะเข้ามาดูแลการลงทุนของลูกค้ารายย่อย เพื่อให้งานบริการครบวงจรมากขึ้น และธุรกิจตลาดทุนจะมีการเปิดสายงานใหม่คือการออกตราสารหนี้ในตลาดทุนด้วย
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร KK กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน-ภัทร จะมุ่งเน้นในธุรกิจที่ทั้งสองแห่งมีความเชี่ยวชาญ โดยใช้จุดแข็งที่มี วางแผนต่อยอดในการทำธุรกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพร่วมกันอย่างสูงสุด ตลอดจนพิจารณาถึงข้อเสียเปรียบในการแข่งขัน อาทิ ขนาดสินทรัพย์ เครือข่ายสาขา ต้นทุนทางการเงิน
ธนาคารจึงได้กำหนดกรอบเป้าหมายการดำเนินธุรกิจ โดยวางกลยุทธ์ให้สามารถแข่งขันได้และเป็นผู้นำในตลาด แบ่งเป็น 3 ธุรกิจหลัก ประกอบไปด้วย 1. ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (Commercial Banking) 2. ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนให้แก่ลูกค้าบุคคลรายใหญ่ (Private Client) และ 3. ธุรกิจตลาดทุน (Investment Banking) นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจการเงินฯ จะมุ่งเน้นนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร และเพิ่มประเภทธุรกิจ รวมทั้งสินค้าและบริการที่สามารถแข็งขันได้ ซึ่งเชื่อว่าโมเดลดังกล่าวจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร
“ธุรกิจหลักทั้ง 3 กลุ่มนี้ จะยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายว่าจะเริ่มเห็นผลลัพธ์ภายในระยะเวลากี่ปี เพราะต้องการให้มีความยืดหยุ่นในการพัฒนาธุรกิจที่ดีที่สุด เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้เกิดความมั่นคงทางธุรกิจอย่างยั่งยืน"นายบรรยง กล่าว
ผลการดำเนินงาน สิ้นสุด 30 ก.ย.55 สินเชื่อของธนาคารมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีสินเชื่อรวมอยู่ที่ 160,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.1% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังควบคุมให้อยู่ในระดับต่ำที่ 3.6% ในส่วนของหนี้สินรวม (เงินฝาก หุ้นกู้ ตั๋วบีอี และหนี้สินอื่นๆ) มีจำนวน 218,417 ล้านบาท ด้านกำไรสุทธิใน 9 เดือนแรกอยู่ที่ 2,323 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.9% สินทรัพย์รวมอยู่ที่ 252,097 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.7% จากสิ้นปี 54
ทางด้าน บมจ.ทุนภัทร(PHATRA) มีกำไรเบ็ดเสร็จใน 9 เดือนแรกของปี 55 ทั้งสิ้น 698 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.6% จากงวด 9 เดือนของปีที่แล้ว แต่เนื่องจากบริษัททุนภัทรได้ควบรวมกับธนาคารเกียรตินาคิน เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 จึงมีส่วนของกำไรเบ็ดเสร็จของบริษัททุนภัทรรวมคำนวณอยู่ในกำไรเบ็ดเสร็จของธนาคารจำนวน 55 ล้านบาท
"กำไรจาก 3 ส่วนธุรกิจนั้น ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังเป็นรายได้หลัก และธุรกิจด้านอื่นมีกำไร 1 ใน 3...ในไตรมาส 4/55 ผลประกอบการของทุนภัทรจะเข้ามารวมใน KK และจะรับรู้เต็มปีในปี 56"นายบรรยง กล่าว