ปัจจัยบวกสำคัญคือรัฐบาลเดินเครื่องหน้าโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ(IT)เช่น บริการ Wi-fi free ทั่วประเทศ, โครงการสมาร์ทไทยแลนด์, โครงการ school net ขยายเครือข่ายไปโรงเรียนภาครัฐ 30,000 กว่าโรงเพื่อให้สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการด้วย ทั้งนี้ ลูกค้าหลัก ยังเป็น บมจ.กสท โทรคมนาคม(CAT) และ บมจ.ทีโอที(TOT)
ในวันที่ 8 พ.ย.นี้ บริษัทจะนำเสนอโครงการลงทุนใหม่เพื่อให้บริการระยะยาวต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่ออนุมัติเม็ดเงินลงทุนของปี 56 ซึ่งเป็นวงเงินมากพอควร จากปีนี้ที่ไม่ได้ลงทุนเลย ทั้งนี้ คาดว่าจะเห็นการลงทุนโครงการใหม่ที่ให้บริการทั้งในและต่างประเทศภายในปีหน้า โดยอาจจะเป็นการร่วมมือกับพันธมิตร
ส่วนโครงการร่วมลงทุน Tower-co หรือให้เช่าเสาโทรคมนาคมแก่ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือเพื่อรองรับการขยายเครือข่าย 3G นั้น ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ว่าจะคุ้มการลงทุนหรือไม่ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าประเด็นเรื่องการให้ใบอนุญาต 3G จะจบลงได้เมื่อใด ซึ่งเป็นอีกโครงการที่จะต้องนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการเช่นกัน
ขณะที่การขยายธุรกิจด้านไอทีไปยังต่างประเทศ ในปี 56 คาดว่าจะมีรายได้จากกัมพูชาเข้ามามากขึ้นหลังจากที่ไปเปิดสาขาแล้ว เป้าหมายต่อไปมองที่ประเทศพม่าที่จะไปเปิดสาขาเพิ่ม เพราะตลาดน่าจะใหญ่มากพอที่จะเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจไอที และมั่นใจว่าการเปิด AEC ในปี 58 บริษัทมีศักยภาพเพียงพอสำหรับการแข่งขันกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ เพราะสัดส่วนรายได้ของบริษัท 90% เป็นงานจากภาครัฐ หากมีต่างชาติเข้ามาแข่ง บริษัทก็สามารถสู้ได้อยู่แล้ว
พร้อมกันนั้น นายศิริพงษ์ ยังเปิดเผยว่า รายได้ของบริษัทในปีนี้คาดว่าจะจบที่ 4,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 54 ที่มีรายได้ 4,800 ล้านบาท ถือว่าพลาดเป้าจากเดิมที่ตั้งไว้ช่วงต้นปีสูงถึง 5.3 พันล้านบาท และต่อมาเมื่อสิ้นไตรมาส 2/55 ปรับลดเป้าลงเหลือ 4.5-4.8 พันล้านบาท เนื่องจากงานโครงการภาครัฐล่าช้า
อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 3/55 คาดว่ารายได้จะสูงกว่าทั้งไตรมาส 1 และ 2 ทำให้งวด 9 เดือนรายได้อยู่ที่เกือบ 3,000 ล้านบาท และไตรมาส 4/55 คาดรายได้จะราว 1,000 ล้านบาท จากงานในมือ(backlog)ที่มีอยู่ 2-3 พันล้านบาท แต่ในส่วนกำไรปีนี้จะรักษาอัตรากำไรสุทธิที่ 8-9% ใกล้เคียงปี 54