ตลท.เผย 9 เดือนแรกต่างชาติซื้อสุทธิกว่า 6.5 หมื่นลบ.หลังขายสุทธิในปี 54

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 8, 2012 11:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เปิดเผยว่า นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจต่อตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 55 นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 65,775 ล้านบาท หลังจากขายสุทธิ 5,290.42 ล้านบาทในปี 54 ขณะที่ในปี 55 นักลงทุนต่างประเทศมีมูลค่าการถือครองหุ้นในตลาดหุ้นไทยสูงถึง 3.60 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 36.76% ของมูลค่าหลักทรัพย์รวมทั้งตลาด ซึ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี (ปี 53-55)ทั้งนี้เป็นผลจากระดับราคาของหุ้นที่สูงขึ้นตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ที่เพิ่มขึ้น 60.90% และปริมาณการถือครองหรือจำนวนหุ้น (volume) ที่เพิ่มขึ้น 40.23%

ข้อมูลการถือครองหุ้นในปี 2555 พบว่า นักลงทุนต่างประเทศถือครองหุ้นในกระดานต่างประเทศ (foreign shares) สูงถึง 82% ของมูลค่าการถือครองรวม รองลงมาคือหลักทรัพย์ NVDR ประมาณ 18% และหุ้นในกระดานหลัก (local shares) น้อยกว่า 1% ของมูลค่าการถือครองรวมของนักลงทุนต่างประเทศ ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศซื้อขาย local shares และหลักทรัพย์NVDR 50% และ 43% ตามลำดับ และมีการซื้อขาย foreign shares เพียง 7% ของมูลค่าการซื้อขายรวมของนักลงทุนต่างประเทศ เท่านั้น เนื่องจากการถือครอง foreign shares มักเป็นการถือครองหุ้นในระยะยาวของพันธมิตรทางธุรกิจ หรือ strategic shareholders

ในปี 55 นักลงทุนจากทวีปยุโรปมีมูลค่าการถือครองหุ้นรวมสูงสุดประมาณ 50% ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวมของ นักลงทุนต่างประเทศทั้งหมด โดยนักลงทุนจากสหราชอาณาจักร (British) มีมูลค่าการถือครองหุ้นรวมสูงสุด รองลงมา คือนักลงทุนจากสิงคโปร์ และอเมริกา ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนจากประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น กรีซ อิตาลี สเปน และโปรตุเกส มีมูลค่าการถือครองเพียง 0.002% ของมูลค่าหลักทรัพย์รวมทั้งตลาดเท่านั้น

ในปีนี้มีนักลงทุนจาก 89 สัญชาติ ใน 5 ทวีป ถือครองหุ้นในตลาดหุ้นไทย โดยนักลงทุนจากทวีปยุโรปมีมูลค่าการถือครองหุ้นสูงสุดรวม 1.79 ล้านล้านบาท คิดเป็น 50% ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวมของนักลงทุนต่างประเทศทั้งหมด รองลงมา คือ นักลงทุนจากทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกา ทวีปแอฟริกา และทวีปออสเตรเลีย ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาตามสัญชาติของนักลงทุน พบว่า นักลงทุนจากสหราชอาณาจักร (British) มีมูลค่าการถือครองหุ้นรวมสูงสุดที่ 1.32 ล้านล้านบาท คิดเป็น 36.73% ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวมของนักลงทุนต่างประเทศทั้งหมด รองลงมา คือ นักลงทุนจากสิงคโปร์ อเมริกา เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง มอริเชียส ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และลักเซมเบิร์ก โดยทั้ง 10 สัญชาตินี้มีมูลค่าการถือครองหุ้นรวม 3.32 ล้านล้านบาท คิดเป็น 92% ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวมของนักลงทุนต่างประเทศทั้งหมด ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น กรีซ อิตาลี สเปน และโปรตุเกส มีมูลค่าการถือครองรวมเพียง 193 ล้านบาท หรือมีมูลค่ารวมเพียง 0.002% ของมูลค่าหลักทรัพย์รวมทั้งตลาดเท่านั้น

ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสในการขยายฐานนักลงทุนไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากยังมีมูลค่าการถือครองหุ้นและจำนวนนักลงทุนน้อยในปัจจุบัน ในปี 55 นักลงทุนต่างประเทศที่เป็นนักลงทุนจาก 9 ประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า เวียดนาม บรูไน กัมพูชา และลาว มีมูลค่าการถือครองหุ้นรวม 787,439 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 8.03% ของมูลค่าหลักทรัพย์รวมทั้งตลาด

ในกลุ่มนักลงทุนอาเซียน นักลงทุนจากสิงคโปร์มีมูลค่าการถือครองหุ้นสูงสุดรวม 731,956 ล้านบาท คิดเป็น 92.95% ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวมของนักลงทุนอาเซียน โดยส่วนใหญ่ประมาณ 99.63% ของมูลค่าการถือครองหุ้นทั้งหมดของนักลงทุนสิงคโปร์เป็นการถือครองโดยนักลงทุนสถาบันหรือนิติบุคคล และถือครองโดยนักลงทุนบุคคลเพียง 0.37% เท่านั้น และลำดับรองลงมา คือ นักลงทุนจากมาเลเซีย ที่มีมูลค่าการถือครองหุ้นรวม 53,525 ล้านบาท คิดเป็น 6.80% ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวมของนักลงทุนอาเซียน โดยส่วนใหญ่ (91.78%) ถือครองโดยนักลงทุนสถาบันหรือนิติบุคคล และถือครองโดยนักลงทุนบุคคลเพียง 8.22% เท่านั้น และพบว่านักลงทุนจากสิงคโปร์และมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นบริษัทแม่ของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย กองทุนของภาครัฐ ซึ่งถือครองหุ้นไทยในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจ หรือ strategic shareholders

ขณะที่นักลงทุนจากอีก 7 ประเทศ อันได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า เวียดนาม บรูไน กัมพูชา และลาว มีมูลค่าการ ถือครองหุ้นรวมเพียง 1,958 ล้านบาท หรือ 0.25% ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวมของนักลงทุนอาเซียน โดยนักลงทุนจากพม่า เวียดนาม บรูไน กัมพูชา และลาว แต่ละประเทศมีมูลค่าการถือครองหุ้นรวมน้อยกว่า 100 ล้านบาท และเกือบทุกประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นสิงคโปร์และมาเลเซีย มีจำนวนนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยน้อยกว่า 100 ราย แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนในประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ยังลงทุนในตลาดหุ้นไทยน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม จากพัฒนาการต่างๆ ในตลาดหุ้นไทย อาทิ การเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน เพื่อช่วยยกระดับหลักทรัพย์อาเซียนให้เป็นที่ยอมรับในสายตานักลงทุนทั่วโลก การเชื่อมโยงกระดานการซื้อขายอาเซียน (ASEAN Trading Link) เป็นต้น และการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 จะเป็นโอกาสอันดีของผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนไทย อาทิ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการลงทุน ในการขยายฐานนักลงทุนไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ