ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเห็นชอบร่วมกันที่จะเสนอความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยว่าเป็นการดำเนินการที่เป็นแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรการ 47 และพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรการ 45 ประกอบมาตรา 41 วรรค1 และ วรรค 7 หรือไม่ โดยส่งเรื่องให้ศาลปกครองไปแล้ว
พร้อมกันนั้น ได้ร้องขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉินและขอให้ศาลมีคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวด้วยการระงับการออกใบอนุญาต 3G เอาไว้ก่อนด้วย
นายรักษ์เกชา กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ผู้ตรวจการได้ยื่นฟ้องครั้งนี้ เป็นการยื่นฟ้องต่อสำนักงาน กสทช. เนื่องจากพิจารณาจากขอบเขตอำนาจแล้วผู้ตรวจการไม่สามารถฟ้องคณะกรรมการ กสทช.และคณะกรรมการ กทค.ได้ เพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ
ส่วนประเด็นที่ฟ้องเนื่องจากเห็นว่าการประมูล 3G ครั้งนี้มีเข้าร่วมประมูลเพียง 3 ราย ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันเรื่องของราคาซึ่งอาจจะเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องการแข่งขันเสรี จึงขอให้มีคำสั่งฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราวให้ชะลอการออกใบอนุญาต เนื่องจากผู้ตรวจการไม่มีอำนาจสั่งให้ กสทช.ชะลอการออกใบอนุญาตแต่มีความเห็นพ้องตามผู้ร้องว่าคดีดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญและขัดต่อ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อให้ศาลชี้ขาด และหากเห็นว่าขัดต่อกฎหมายทั้งสองฉบับก็ขอให้ยกเลิกผลการประมูล 3G เมื่อวันที่ 16 ต.ค.
ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการประมูลเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ไม่ส่งเสริมให้เกิดการสู้เรื่องราคา เพราะจำนวนใบอนุญาตมีจำนวนเพียงพอกับจำนวนผู้เข้าประมูล ส่วนในประเด็นเรื่องการฮั้วราคา ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้พิจารณาเนื่องจากเห็นว่า ป.ป.ช. รับเรื่องไปพิจารณาแล้ว
สำนวนฟ้องที่ยื่นต่อศาลปกครองเป็นการรวบรวมสำนวนฟ้องจากผู้ยื่นฟ้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นของนายอานุภาพ ถิระลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม, นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน นายนราพล ปลายเนตร กลุ่มผู้นำแรงงานบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาสรรหา ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการกฎหมายป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคมวุฒิสภา, สมาคมโทรคมนาคม สมาคมพิทักษ์ผู้บริโภค เพื่อสรุปเป็นสำนวนเดียวแล้วจึงยื่นต่อศาลปกครอง
สำหรับขั้นตอนของการออกใบอนุญาต 3G หลังจากนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ กสทช.ว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนไปเลย หรือ จะรอคำสั่งศาลปกครองก่อน ซึ่งหากมีการออกใบอนุญาตไปแล้วและคำสั่งศาลออกมามีผลกระทบ กสทช.จะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น