“มาตรการกำหนดราคาค่าบริการนั้น ขอให้ กทค. มีความจริงใจมากกว่านี้ เพราะสิ่งที่ผู้บริโภครอคอยคือ ค่าบริการดาต้าที่มีราคาถูกลง ไม่ใช่ค่าบริการเสียง อีกทั้งยังมีประเด็นทางข้อกฎหมายว่า กทค.สามารถกำกับดูแลค่าบริการได้จริงหรือไม่ กรณีที่ผู้ให้บริการตั้งบริษัทลูกขึ้นมารองรับ อย่างไรก็ตาม ในเมื่อมูลค่าการประมูลในครั้งนี้ที่ต่ำมาก กทค. จึงควรกำหนดตั้งเป้าหมายให้ 3 G ไทยมีราคาค่าบริการถูกที่สุดในอาเซียน " น.ส.สารี กล่าว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง (ประเภท1) รวมถึงผู้ให้บริการข้อมูล (Data Provider) เนื่องจากบริการ 3G เป็นบริการที่เน้นการให้บริการข้อมูลเป็นหลัก ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถหลีกเลี่ยงการกำกับดูแลด้วยการไปตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเป็นผู้ถือใบอนุญาตประเภท 1 และให้บริการข้อมูลเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถกำกับดูแลราคาบริการ 3G ได้ ยกเว้น กสทช.จะยกเลิกข้อยกเว้นในการกำกับดูแลดังกล่าว
น.ส.สารี กล่าวว่า กรณีที่สังคมกำลังแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในกรณีการฟ้องร้องการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz เพื่อเปิดให้บริการ 3G ว่า เข้าใจได้ว่าคนไทยต้องการใช้บริการนี้มาก และอยากให้บริการนี้เกิดขึ้นในประเทศได้แล้ว อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ต้องพูดก็คือ ผลของการประมูลในครั้งนี้เป็นสิ่งที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ได้ทำความเห็นให้กับ กทค. เพื่อพิจารณาแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยข้อความตอนหนึ่งได้ระบุไว้ชัดเจนว่า การประมูลในรูปแบบนี้จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการฮั้วกันโดยแบ่งคลื่นความถี่กันไปรายละ 15 MHz ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการให้บริการนั้นมีความเป็นไปได้สูง และส่งผลให้ราคาประมูลเท่ากับมูลค่าขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แต่ละชุด (reserve price)
“เราติดตาม เราให้ความเห็น เราเตือนแล้ว โดยทำทุกอย่างเพื่อให้ความเห็นไปถึง กทค. และไม่ใช่ว่า กลุ่มองค์กรต่างๆ หรือนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายต้องการขวางการประมูลครั้งนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายพยายามบอกและพยายามพูดให้ฟังมาตลอด ตั้งแต่การจัดเวทีประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม และทำความเห็นเสนอให้อีกในเดือนเดียวกัน เราให้ความเห็นทั้งในเวทีและทำเป็นหนังสือจากอนุกรรมการฯ แต่สิ่งที่ถูกพิจารณาในการแก้ไขร่างประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การประมูลนั้น มีเพียงคำร้องขอของผู้ให้บริการเท่านั้น นั่นคือขอให้มีการจัดแบ่งคลื่นในการประมูลเป็น 15 MHz" นางสาวสารีกล่าว