พลังงานบริสุทธิ์ ลุ้นเข้าตลาดฯทันปีนี้ ระดมทุน IPO สร้างโซลาร์ฟาร์มนครสวรรค์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 12, 2012 12:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) คาดจะเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป(IPO)จำนวน 500 ล้านหุ้นภายในสิ้นปี 55 เพื่อนำเงินไปในในการลงทุนธุรกิจโซล่าฟาร์มที่นครสวรรค์ โดยคาดว่าจะใช้เงิน 1 ใน 4 ที่ระดมทุนได้ บริษัทมีแผนสร้างโซลาร์ฟาร์ม 278 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลมอีก 404 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกัน บริษัทคาดหวังจะเจรจาเจ้าหนี้ให้บริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลได้แม้ว่าบริษัทมีแผนลงทุนต่อเนื่อง

นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์(APM) ในฐาะนที่ปรึกษาทางการเงิน EA เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นแบบข้อมูล(ไฟลิ่ง)ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก(IPO)แล้ว และในวันนี้ ก.ล.ต.จะเดินทางไปเยี่ยมชมกิจการโรงไฟฟ้าขนาด 8 เมกะวัตต์ที่ จ.ลพบุรี และในครั้งถัดไปก็จะไปเยี่ยมชมกิจการโรงงานผลิตไบโอดีเซล ที่ จ.ปราจีนบุรี

"บริษัทคาดหวังว่าเมื่อได้รับการอนุมัติจาก ก.ล.ต.แล้ว จะทำโรดโชว์เพื่อให้ข้อมูลกับนักลงทุน และจะพยายามเสนอขายหุ้นและเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ให้ได้ภายในปีนี้"นายสมภพ กล่าว

ปัจจุบัน EA เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล(B100) ดีเซลหมุนเร็ว กรีเซอรีนบริสุทธิ์ และวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการผลิตไบโอดีเซล และทำธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 317 ล้านบาท และจะมีทุนชขำระแล้วหลังการเพิ่มทุน IPO เป็น 373 ล้านบาท โดยมีแผนจะนำเงินไปใช้ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแดงอาทิตย์ขนาด 90 เมกะวัตต์ใน จ.นครสวรรค์

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA กล่าวว่า บริษัทคาดว่าจะระดมทุนจาก IPO อย่างน้อย 1 ใน 4 ของเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มขนาด 90 เมกะวัตต์ที่ จ.นครสวรรค์ ซึ่งคาดว่าต้องใช้เม็ดเงินราว 6,680 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้เงินกู้จากสถาบันการเงิน โดยขณะนี้ได้แต่งตั้งให้ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้จัดการระดมเงินกู้ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปีหน้า

บริษัทยังมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 2 โรงที่ จ.ลำปาง และ จ.พิษณุโลก ขนาดแห่งละ 90 เมกะวัตต์ในปี 57 และ 58 ตามลำดับ โดยคาดว่าจะใช้เม็ดเงินใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าที่นครสวรรค์หรืออาจจะปรับลดลงตามราคาของแผงโซลาร์เซลล์ในอนาคต ซึ่งจะทำให้ในที่สุดแล้วภายในปี 59 บริษัทจะมีโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ทั้งหมด 4 โครงการ รวมขนาดกำลังผลิต 278 เมกะวัตต์ ทุกโครงการได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)แล้ว โดยได้รับค่า Adder ที่ 6.50 บาท/เมกะวัตต์

บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าแห่งแรกที่จ.ลพบุรีในไตรมาส 4/55 หลังจะจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้ตั้งแต่ ต.ค.55 แต่จะรับรู้ฯเต็มปีในปี 56 ราว 150 ล้านบาท ส่วนโรงไฟฟ้าขนาด 90 เมกะวัตต์คาดว่าจะสร้างรายได้ให้ราว 1,500 ล้านบาท/ปี ซึ่งจะเริ่มทยอยเข้ามาตั้งแต่ปี 57 โดยรายได้ที่เข้ามาจะเป็นกระแสเงินสดส่วนหนึ่งที่ใช้ต่อยอดการลงทุนในโรงไฟฟ้าโครงการถัดไปร่วมกับเงินกู้จากสถาบันการเงิน และตราสารทางการเงินอื่น ๆ

สำหรับโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งนี้ บริษัทจะใช้การซื้อที่ดินมาดำเนินการราวแห่งละ 2 พันไร่ โดยขณะนี้ได้จัดซื้อที่ดินของโครงการที่นครสวรรค์และลำปางไว้พร้อมแล้ว ส่วนพิษณุโลกซื้อที่ดินไว้แล้ว 1 พันไร่ และกำลังจัดหาเพิ่มเติมอีก

"เราสร้างโรงไฟฟ้า 8 เมกฯที่มีความแตกต่างจากโครงการทั่วไป เรามีแผงโซลาร์ 7 ชนิด มี invertor 5 ขนาด แล้วมาต่อ 28 แบบ เหมือนเป็นโรงไฟฟ้าเล็ก ๆ 28 โรง เราวิเคราะห์ก่อนสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 90 เมกฯ เพื่อหาจุดที่ดีที่สุด เพื่อการลงทุนที่เหมาะสมและเสี่ยงน้อยที่สุด เรายังเน้นการวาระบบป้องกันน้ำท่วม และรักษาความปลอดภัย เพื่อป้องกันความสูญเสียให้มากที่สุด"นายสมโภชน์ กล่าว

นายสมโภชน์ ยอมรับว่า สัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)ของบริษัทจะปรับตัวสูงขึ้นมาที่ 3 ต่อ 1 จากการที่บริษัทลูกลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 1 และมีแนวโน้มจะปรับขึ้นไปอีกตามการลงทุนที่ได้วางแผนไว้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ถือเป็นปกติของธุรกิจโรงไฟฟ้า และแม้ว่าบริษัทจะมีการลงทุนค่อนข้างสูง แต่ก็ได้เจรจากับธนาคารผู้ให้กู้เพื่อขอให้สามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้นโยบายที่จะจ่ายไม่ต่ำกว่า 30% ของกำไรสุทธิ

นอกจากนั้น บริษัทยังได้เสนอโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเพื่อขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐรวม 404 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณา โดยได้มองทำเลทั้งภาคใต้และภาคอีสาน คือที่ดินเลียบชายฝั่งทะเล ใน จ.นครศรีธรรมราช, จ.ชัยภูมิ และ จ.มุกดาหาร อาจจะเป็นการเช่าที่ดิน แทนการซื้อที่ดิน เพราะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเท่ากับโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ หากได้รับอนุญาตตามแผนงานที่วางไว้ก็คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 63

ขณะที่โรงงานผลิตไบโอดีเซลมีขนาดกำลังผลิต 8 แสนลิตร/วัน เน้นกลยุทธรักษาอัตราเติบโตอย่างสม่ำเสมอ โดยในครึ่งแรกของปี 55 มีปริมาณขายแล้ว 61 ล้านลิตร จากปีก่อนทั้งปีที่มีปริมาณขาย 90 ล้านลิตร พร้อมกับการปรับลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการสร้างรายได้จากการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งล่าสุดบริษัทสามารถนำกลีเซอรีนมากลั่นบริสุทธิ์เพื่อทำการส่งออกได้แล้ว คาดว่าจะเริ่มสร้างรายได้เข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 4/55 นี้

สำหรับผลการดำเนินงานของ EA รายได้รวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จาก 2,539.04 ล้านบาทในปี 52 เป็น 2,624.81 ล้านบาทในปี 53 และ 5,423.98 ล้านบาทในปี 54 คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 3.38% ในปี 53 และ 106.64% ในปี 54 ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 55 บริษัทมีรายได้รวม 2,804.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิในปี 52 อยู่ที่ 47.46 ล้านบาท ปี 53 อยู่ที่ 26.91 ล้านบาท และปี 54 อยู่ที่ 63.02 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 55 บริษัทมีกำไรสุทธิ 64.34 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ