สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB21DA (อายุ 9.1 ปี) LB176A (อายุ 4.8 ปี) และILB217A (อายุ 8.6 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 16,355 ล้านบาท 15,742 ล้านบาท และ 11,187 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB12N27A (อายุ 14 วัน) CB12D06C (อายุ 28 วัน) และ CB13207B (อายุ 91 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 41,570 ล้านบาท 37,700 ล้านบาท และ 36,420 ล้านบาท ตามลำดับ
ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (TLT138A (AAA) และ TLT149A (AAA)) มูลค่าการซื้อขาย 1,485 ล้านบาท และ 476 ล้านบาทตามลำดับ และ หุ้นกู้ของบริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน) (MBK137 (A)) มูลค่าการซื้อขาย 605 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลงในตราสารอายุน้อยกว่า 5 ปี ในช่วง -1 ถึง -5 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) และปรับตัวเพิ่มขึ้นในตราสารอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง +2 ถึง +6 Basis Point โดยการปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นถึงระยะกลาง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงซื้อของนักลงทุนในตลาด ที่ปรับพอร์ตมาลงทุนในกลุ่มของตราสารระยะสั้นถึงระยะยาวกลางมากขึ้น และส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวลดลงตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (US Treasury) หลังจากที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จากพรรค Democratic ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 พร้อมด้วยเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภา ขณะที่เสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฏรยังคงเป็นของพรรค Republican อยู่เช่นเดิม การที่ต่างฝ่ายต่างไม่มีเสียงเด็ดขาดในสภาคองเกรส ทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนที่ต้องออกเป็นกฏหมายและผ่านความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา เนื่องจากความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่าง 2 พรรคการเมืองซึ่งจะนำไปสู่ความยากลำบากในการผ่านร่างกฏหมายต่างๆ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับการบริหารงานของรัฐบาลในชุดที่ผ่านมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายๆมาตรการที่กำลังจะหมดอายุลงในสิ้นปี 2555 นี้ และความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ หรือ Fiscal Cliff หากมาตรการที่กำลังจะหมดอายุลงไม่ได้รับการต่ออายุออกไป
นอกจากนี้แล้ว ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเริ่มกลับเข้ามามีผลต่อบรรยากาศการลงทุนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่คณะกรรมการยุโรป (EC) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (EU) มาอยู่ที่ระดับ 0.4% ในปี 2556 และปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซน มาอยู่ที่ระดับ 0.1% ในปี 2556 ความกังวลในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ มีผลทำให้เม็ดเงินบางส่วนไหลกลับเข้าสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (Safe Haven) อย่างเช่นพันธบัตรรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีผลทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภทรวมกัน (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) 6,046 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิ 3,200 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อย (Individual) ที่ถึงแม้จะมีสัดส่วนการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างน้อย แต่ในสัปดาห์นี้มียอดซื้อสุทธิ 32 ล้านบาท