GFPTคาดมาร์จิ้นปี 55วูบเหลือ 6%จาก 15%เล็งขึ้นราคาดันปี 56ฟื้นเป็น 10%

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 14, 2012 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวจุฑามาส อิงโพธิ์ชัย ผู้จัดการนักลงทุนสัมพันธ์ GFPT กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ในปีนี้ปรับลดลงมาที่ 6% จากปีก่อนที่อยู่ระดับ 15% ขณะที่รายได้ปีนี้บริษัทเติบโต 10% มาที่ 1.5 หมื่นล้านบาทจากปีก่อนที่มีรายได้ 1.42 หมื่นล้านบาท สาเหตุหลักมาจากราคาไก่เป็นในประเทศปรับตัวลงไปมากเนื่องจากภาวะล้นตลาด และราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะกากถั่วเหลืองปรับตัวขึ้นสูง
"ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้นทำให้กำไรขั้นต้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในไตรมาส 3 ลงมาที่ 6% และงวด 9 เดือนก็อยู่ระดับนี้ คิดว่าทั้งปีก็จะอยู่ระดับ 6%...ในภาวะที่ไม่ดี เราก็พยายามทำให้ขาดทุนน้อยที่สุด"นางสาวจุฑามาส กล่าว

อนึ่ง GFPT ประกาศผลประกอบการในไตรมาส 3/55 ขาดทุน 23.87 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนต่อเนื่องจากไตรมาส 2/55 ที่ขาดทุน 16.29 ล้านบาท และในไตรมาส 1/55 ขาดทุน 13.89 ล้านบาท ทำให้งวด 9 เดือนบริษัทมีผลขาดทุน 54.06 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 984.77 ล้านบาท

นางสาวจุฑามาส กล่วว่า ราคาไก่เป็นในประเทศช่วงไตรมาส 3/55 ปรับลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 32-33 บาท/กก.โดยเฉพาะในเดือน ต.ค.ที่มีเทศกาลเจ จากไตรมาส 1/55 ที่ราคาเฉลี่ย 37 บาท/กก.และไตรมาส 2/55 ราคาเฉลี่ย 35 บาท/กก.ทำให้คาดว่าทั้งปีราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 35-36 บาท/กก.ลดลงจากปี 54 ที่มีราคาเฉลี่ย 45 บาท/กก.อย่างไรก็ดี ราคาไก่เป็นในประเทศในเดือนพ.ย.ขยับขึ้นมาที่ 37 บาท/กก.แต่ก็ยังแค่คุ้มต้นทุนเท่านั้น

ทั้งนี้ เป็นผลจากภาวะไก่ล้นตลาด (over supply) ประมาณ 15-20% โดยคาดว่าปีนี้ปริมาณไก่ในระบบทั้งหมด 24-25 ล้านตัว/สัปดาห์ จากปีก่อนที่มีไก่ในระบบประมาณ 19 ล้านตัว/สัปดาห์

ประกอบกับ ราคากากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในอาหารสัตว์ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจาก 18-19 บาท/กก.ในครึ่งปีแรกเพิ่มเป็น 21 บาท/กก.ในไตรมาส 3/55 และคาดว่าจะปรับขึ้นไปถึงปีหน้ามากกว่า 20 บาท/กก. ทำให้ราคากากถั่วเหลืองปีนี้เฉลี่ยที่ 17 บาท/กก.สูงกว่าปีก่อนที่มีราคาเฉลี่ย 14 บาท/กก.

นางสาวจุฑามาส กล่าวว่า จากราคาต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น บริษัทได้เตรียมปรับราคาขายไก่ส่งออกราว 5-10% เริ่มในไตรมาส 4/55 ถึง ไตรมาส 1/56 โดยบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออก 20% ตลาดหลักคือญี่ปุ่นและยุโรป แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดีมาก แต่ความต้องการเนื้อไก่ยังมีต่อเนื่อง

ส่วนในประเทศคาดว่าในไตรมาส 2/56 หรือระยะเวลา 6 เดือน ภาวะการเลี้ยงไก่น่าจะปรับเข้าสู่จุดสมดุลที่คาดว่าจะอยู่ระดับ 22-23 ล้านตัว/สัปดาห์ ก็จะทำให้ราคาไก่ในประเทศปรับขึ้นได้จากปัจจุบัน

"ถ้าราคาตลาดในประเทศปรับขึ้น gross profit margin จะปรับขึ้นได้ และเราบริการจัดการต้นทุน การผลิต คิดว่าปีหน้าน่าจะมี gross profit margin ที่ 8-10%...คือถ้าราคาสูงกว่า 37 บาท/กก.ขึ้นไปก็จะคุ้มต้นทุน แต่ถ้าต่ำกว่า 37 บาทก็ไม่คุ้ม"นางสาวจุฑามาส กล่าว

ขณะที่การลงทุนในปี 56 จะมีการขยายฟาร์มไก่เนื้อเฟสแรก จำนวนเงิน 400-500 ล้านบาท และในปี 57 ขยายเฟสที่ 2 ทั้งนี้จะเพิ่มการเลี้ยงเป็น 3 แสนตัว/วัน จากปัจจุบันมีจำนวน 2.5 แสนตัว/วัน หลังจากที่ปีนี้บริษัทได้ขยายฟาร์มเลี้ยงไก่พ่อ-แม่พันธุ์ เงินลงทุน 400-500 ล้านบาทไปแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ