(เพิ่มเติม) THAI คาดรายได้ปี 56 โต 11-12%จากปีนี้ที่รายได้พลาดเป้า หลังฝูงบินเพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 16, 2012 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.การบินไทย(THAI) คาดรายได้ในปี 56 เติบโต 11-12% จากปีนี้ หลังมีฝูงบินเพิ่ม ขณะที่คาดว่ากำไรสุทธิจะอยู่ที่ 5 พันล้านบาท จากปีนี้ที่คาดว่าจะกำไร 3 พันล้านบาท ส่วนรายได้ปีนี้คาดพลาดเป้าที่ตั้งไว้ 2.02 แสนล้านบาท หลังรายได้ในไตรมาส 2/55 และต.ค.55 ไม่เป็นตามประมาณการ

นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI กล่าวว่า ผลประกอบการในไตรมาส 3/55 ที่ปรับตัวดีขึ้นทำให้บริษัทคาดว่าจะทำกำไรสุทธิปีนี้มีแนวโน้มจะได้ประมาณ 3 พันล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะเกิดผลขาดทุน และยอดจองตั๋วในเดือนพ.ย.-ธ.ค.55 อยู่ระดับที่ดีมาก แม้ว่าต.ค. 55 อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor) เฉลี่ย 73.5% ต่ำกว่าเป้าที่ 74-75% แต่สูงกว่า ต.ค. 54 อยู่ที่ 65.7% และรายได้ในไตรมาส 2/55 ต่ำกว่าเป้าหมาย 3.4 พันล้านบาท ทำให้รายได้ทั้งปี 55 ไม่ได้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 2.02 แสนล้านบาท

สำหรับในปี 56 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 11-12% จากปีนี้ มาที่ 2.23 -2.24 แสนล้านบาท จากจำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้นประมาณ 8% จากที่บริษัทจะรับมอบเครื่องบินใหม่ 17 ลำ จากปีนี้รับมอบเครื่องบินใหม่ 3-4 ลำ รวมทั้งเพิ่มรายได้จากหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ทั้งจากธุรกิจครัวการบิน และคาร์โก้ รวมทั้งบริษัทที่ THAI ไปลงทุน และควบคุมค่าใช้จ่าย ทั้งนี้คาดว่ารายได้จากธุรกิจคาร์โก้ จะเพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านบาท และมีกำไรขึ้นมาบ้างจากปีนี้จะได้ 2.4-2.5 หมื่นล้านบาท และขาดทุน

"เราต้องตั้งเป้าทุกไตรมาส ทั้ง cabin factor , yield เส้นทางการบิน ..ปีหน้าเราจะเน้นสร้างรายได้ เรามี product เพิ่ม ถ้าเราสร้างรายได้เพิ่มเราก็ไม่ต้องควบคุมต้นทุนมากเกินไป"นายสรจักร กล่าว

ขณะที่การดูแลต้นทุนน้ำมันซึ่งปัจจุบันสูงถึง 40% ของต้นทุนรวม และในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาราคาน้ำมันอากาศยานสูงแตะถึง 127 เหรียญ/บาร์เรล ดังนั้นคณะกรรมการบริษัทจึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดูแลและบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่มีนายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการ THAI เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ และนายคณิน แสงสุพรรณ เป็นรองประธานคณะกรรมการ ร่วมกับผู้เชียวชาญน้ำมันจากภายนอก 2 คน และผู้บริหารเพื่อประชุมให้ทันสถานการณ์น้ำมัน และจะได้มีความเชี่ยวชาญด้านน้ำมันเพื่อบริหารดูแลให้ดีขึ้น เพราะต้นทุนน้ำมันถือเป็นต้นทุนที่สำคัญ โดยปัจจุบันบริษัทได้ทำ hedging ไว้แล้ว 50-60%

นอกจากนี้ จะให้มีการขายตั๋วโดยสารผ่านอินเตอร์เน็ตในสัดส่วนสูงขึ้นเป็น 15% ของรายได้ จากปีนี้ที่มีสัดส่วน 8-9% รวมทั้งปรับเปลี่ยนหน้าจอของเว็บไซด์การบินไทย เพื่อให้การขายผ่านอินเตอร์เน็ตคล่องตัว และยืดหยุ่นได้

ด้านนายอำพน กิตติอำพน ประธานกรรมการ THAI กล่าวว่า ในวันนี้ คณะกรรมการบริษัท มีมติเห็นชอบการวางตำแหน่งยุทธศาสตร์ของ THAI โดยวางยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนของสายการบินไทย การบินไทยสมายล์ และ สายการบินนกแอร์ ทั้งนี้ การบินไทยจะเน้นทำการบินในเส้นทางบินระยะไกล ให้บริการแบบ Premium Full Service ด้วยฝูงบินที่เป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง โดยมีฐานปฏิบัติการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

การบินไทยสมายล์เน้นการบินในเส้นทางบินระยะสั้น ให้บริการแบบ Regional Airline โดยอาศัยและเสริมความแข็งแกร่งให้การบินไทยด้วยฐานผู้โดยสารที่เดินทางแบบเชื่อมต่อเส้นทาง (Connecting Traffic) ของการบินไทย ฝูงบินเป็นเครื่องบินลำตัวแคบ มีฐานปฏิบัติการบินหลักที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และมีเป้าหมายเป็นสายการบินภูมิภาคชั้นนำของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และคณะกรรมการบริษัทมีมติเห็นชอบในหลักการจัดตั้งการบินไทยสมายล์เป็นบริษัทย่อย

และสายการบินนกแอร์ เป็นสายการบินต้นทุนต่ำในภูมิภาค (Regional Low-Cost Carrier) ที่ทำการบินด้วยเครื่องบินลำตัวแคบหรือขนาดเล็กกว่า เน้นทำการบินในลักษณะ Point-to-Point โดยมีฐานปฏิบัติการบินหลักที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งคณะกรรมการบริษัทยังได้ให้ความเห็นขอบการเพิ่มทุนของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด โดยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อให้นกแอร์มีเงินทุนเพียงพอในการจัดหาเครื่องบินขยายเส้นทางบินและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้

นายสรจักร กล่าวว่า ฝ่ายบริหารจะหารือกันภายในวันพรุ่งนี้ (17 พ.ย.) ในรายละเอียดของยุทธศาสตร์ดังกล่าว พร้อมนายดนุช บุนนาค รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการพาณิชย์ THAI ที่เพิ่งรับตำแหน่งในวันนี้(16 พ.ย.) และจะนำเสนอยุทธศาสตร์ รวมทั้งแผนธุรกิจในปีหน้าของบริษัท ต่อคณะกรรมการบริษัทในวันที่ 15 ธ.ค. 55


แท็ก การบินไทย   (THAI)  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ