กสทช.เร่งผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมยื่นขอไลเซ่นส์ให้ถูกต้องถึง 16 ธ.ค.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 16, 2012 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กสทช.เร่งต้อนทีวีดาวเทียมอยู่ในกรอบ ย้ำ 16 ธ.ค.นี้เป็นวันสุดท้ายออกใบอนุญาตประกอบกิจการ และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมไม่เกิน 2% ของรายได้ แต่ผู้ประกอบการโต้เก็บค่าธรรมเนียมสูงและอาจซ้ำซ้อน และยังเห็นว่า กฎแกณฑ์ที่ออกมายังทำให้ตลาดสับสนทั้งๆที่ทีวีดาวเทียมเกิดมานานแล้ว ควรผลักดันให้อุตสาหกรรมทีวีดาวเทียมเติบโตต่อไป

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ได้เปิดให้ผู้ที่ให้บริการทีวีดาวเทียมในปัจจุบัน ยื่นต่อสำนักงานภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2555 เพื่อขอใบอนุญาตกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม

โดยใบอนุญาตครั้งแรกอายุ 1 ปีก่อนจากนั้นจะต่อใบอนุญาตไม่เกิน 14 ปี ซึ่งในระยะเวลา 1 ปี ทางกสทช.จะต้องมีความชัดเจนของเนื้อหาที่นำเสนอและโฆษณาจะต้องเป็นโฆษณาที่เหมาะสมเท่านั้น โดยให้มีการโฆษณาได้ไม่เกิน 6 นาที

“1ปี เราต้องการจัดระเบียบเนื้อหาให้ดีก่อน เรื่องของโฆษณาเป็นเรื่องรอง" พ.อ.นที กล่าว

ทั้งนี้หลังจากผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตดังกล่าวแล้วจะต้องเริ่มให้บริการภายใน 30 วัน และต้องเปิดให้บริการในโครงข่ายที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เท่านั้น

นอกจากนี้ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีจะมีการเรียกเก็บตามกฎหมายซึ่งจะเก็บไม่เกิน 2 % ของรายได้การประกอบกิจการ ในเบื้องต้นบอร์ดกระจายเสียงได้ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว โดยภายหลังประกอบกิจการ 1-2 ปี กสท.จำเป็นต้องทบทวนว่า 2% ที่เรียกเก็บเป็นจำนวนเงินที่มากเกินไปหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ประกอบกิจการรายย่อย จะได้รับการลดหย่อนในเงื่อนไขที่มีรายได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท ในอัตราส่วน 1.5%

ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 16 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการยังสามารถขอใบอนุญาตได้ แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ดำเนินการอยู่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายจากวันที่ 16 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป ถือว่าประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย มีโทษตามมาตรา 66 ของพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ คือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับเรื่องเนื้อหา (Content) ทาง กสท. จะกำกับดูแลโดยไม่ให้ผิดต่อศีลธรรม โฆษณาอวดอ้างเกินจริง หรือขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ และไม่ให้มีเนื้อหาไปในทางลามกอนาจาร โดยจะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆในการให้คำปรึกษาและตรวจสอบ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม, องค์การอาหารและยา (อย.) ทั้งนี้ทาง กสทช.จะจัดตั้งอนุกรรมการเพื่อเข้ามาควบคุมดูแลในส่วนของเนื้อหาโดยจะแบ่งให้มีคนรับผิดชอบเป็นเรื่องๆ

พ.อ.นที กล่าวว่า การเปลี่ยนจากสุญญากาศมาสู่ระบบใบอนุญาต ใรช่วงแรกๆ ผู้ประกอบการอาจจะยังไม่ชิน และต้องการใช้เวลาในการปรับตัว ในช่วงแรกๆ กสทช. จึงไม่หวังให้ผู้ประกอบการทุกรายปฏิบัติตามกฎระเบียบให้ถูกต้องประการ เพียงแต่อยากขอให้ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือ ไม่ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาอันตราต่อเด็ก ไม่มีโฆษณาเกินจริง และไม่มีเนื้อหาหรือโฆษณาที่อาจก่อให้อันตรายต่อประชาชน โดย กสทช. จะมุ่งหวังไม่ทำตัวเป็นอุปสรรคให้แก่ผู้ประกอบการ ตราบที่ผู้ประกอบการไม่ทำร้ายสังคม

“ผมมีหน้าที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้เดินหน้าต่อไปได้ การมีกระบวนการกำกับดูแลจะทำให้กระบวนการต่างๆเป็นไปได้อย่างเรียบร้อย เมื่อการประกอบกิจการภาพรวมเป็นที่เรียบร้อยอุตสาหกรรมก็จะดีขึ้น แต่หากภาพพจน์เป็นเหมือนเดิม อุตสาหกรรมนี้ก็จะไม่มีการพัฒนากว่านี้" พ.อ.นที กล่าว

ด้านนายสุระ เกนทะนะศิล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อ.ส.ม.ท. (MCOT) กล่าวว่า ขณะนี้ยังรู้สึกมีความสับสนที่เห็นกฎหมายการกำกับดูแลผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมในประเทศไทยไม่มองตัวธุรกิจ เทคโนโลยี หรือแม้แต่ช่องฟรีทีวีอย่าง อ.ส.ม.ท. เอง ทั้งที่แท้จริงทีวีดาวเทียม คือตัวช่วยให้ผู้ที่อาศัยอยู่ห่างไกลสามารถรับชมทีวีได้ชัดเจน ฉะนั้น กสทช. ต้องเข้าใจทีวีดาวเทียมในเวลานี้เกิดแล้วและคงล้มไม่ได้ แต่การจะทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตและอยู่รอดได้ ส่วนตัวเห็นว่าควรกำกับดูแลกันเองแทนที่ให้กฎหมายมาบังคับ

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจทีวีดิจิตอลที่กำลังเกิดขึ้น จุดประสงค์หลักเพื่อพัฒนาเพื่อพัฒนาประเทศไทย ฉะนั้นหาก กสทช.อยากทำประโยชน์เพื่อสาธารณะจริงๆ ควรยกช่องทีวีประเภทธุรกิจในทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่องทิ้ง เพราะช่องธุรกิจดีๆ ทุกวันนี้อยู่ในทีวีดาวเทียมหมดแล้ว

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ. เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (NBC) กล่าวว่า ข้อกังวลต่อประกาศ กสทช. ที่ใช้กำกับกิจการโทรทัศน์ตอนนี้ คือ ตัวประกาศเบื้องต้นเหมือนทำออกมาดี สร้างกรอบกติกา แต่ตัวประกาศนั้นกลับสร้างความไม่แน่นอนทางด้านธุรกิจซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำคัญ เพราะแทบทุกข้อได้กำหนดกรอบติกาขึ้นมาภายหลัง เหมือนเป็นการตั้งกรอบอำนาจไว้

สิ่งเหล่านี้จึงส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนทางธุรกิจ เช่น หาก กสทช. บอกช่องฟรีทูแอร์ สามารถออกประกาศโฆษณาอันเป็นแหล่งรายได้หลักของผู้ประกอบการด้านนี้ได้ครั้งละ 12 นาที แต่เมื่อช่องรายการนั้นเข้าไปในกล่องทีวีดาวเทียมที่บอกรับสมาชิกกลับออกประกาศโฆษณาได้ 6 นาที ฉะนั้นไม่ควรบังคับ เพราะสิ่งเหล่านี้กำหนดไม่ได้ กลไกผู้บริโภคจะกำหนดเอง ประกอบกับที่ผ่านมาผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมนั้นมีมากว่า 10 ปี หลายช่องทีวีมีคุณภาพ และประพฤติดีมาตลอด

“ประกาศ กสทช. เหมือนส่งเสริม แต่เป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต เหมือนมองเราเป็นทหารเอามาฝึกก่อนและดูว่าเราเข้าแถวตรงไหม อีกทั้งช่วงหลัง กสทช. ให้น้ำหนักกับทีวีดิจิตอลมากจนเหมือนเป็นหลัก ส่วนตัวไม่ได้มองไม่ดี แต่สิ่งนี้ควรปล่อยให้ผู้บริโภคเลือกรับชมเอง และยิ่งได้เห็นข่าว กสทช. มีแนวคิดเอาเงินที่ได้จากการประมูลไปสนับสนุนกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลยิ่งไม่เห็นด้วย เพราะโดยส่วนตัวไม่คิดว่าทีวีดิจิตอลที่เกิดขึ้นจะมีเนื้อดีกว่าทีวีดาวเทียม และยิ่งต้นทุนสูงการทำเนื้อหายิ่งไม่มีทางเลย เพราะต้นทุนส่วนมากผู้ประกอบการจะหมดไปจากเงินประมูล" นายอดิศักดิ์ กล่าว

ส่วนนายเดียว วรตั้งตระกูล กรรมการผู้จัดการ สายงานแพลทฟอร์ม สเตทติจี บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด กล่าวว่า การได้รับอนุญาต คือสิ่งที่จีเอ็เอ็มแซทเรียกร้องมาตลอด เพราะอยากทำธุรกิจให้ทุกอย่างชัดเจน แต่ไม่เห็นด้วยคือความชัดเจนของคนที่มาดูแล เชื่อหากคนที่มาดูแลออกกฎระเบียบไม่สร้างภาระ ผู้ประกอบการทุกคนยินดีก็ยินดีอยู่ในกรอบ แต่บางกฎวันนี้ทำให้เราดำเนินธุรกิจยากขึ้น เช่น ค่าธรรมเนียมรายปี 2% และ เงินเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนาอีก 2% ซึ่งนับได้ว่าสูงมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ