อนึ่ง ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อ 20 ก.ย.55 ให้ BANPU และบริษัท บ้านปูเพาเวอร์ จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายแก่นายศิวะ งานทวีและพวกเป็นค่าข้อมูลจำนวน 4 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และค่าขาดประโยชน์เป็นเงินรายปี ปี 2558-2570 ปีละ 860 ล้านบาท และปี 2571-2582 ปีละ 1.38 พันล้านบาท
นายชนินท์ กล่าวว่า จากการประชุมทนายและฝ่ายบริหารของบริษัทได้พิจารณาข้อเท็จจริงและประเด็นข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นมาชี้แจงให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาได้ เพราะบริษัทมีความมั่นใจว่าเรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นโดยความสุจริตตั้งแต่แรก ไม่มีความตั้งใจจะคดโกงหรือเอาเปรียบใดๆ
"ฝ่ายบริหาร เราเชื่อว่าที่มาที่ไปของ case นี้มีความบริสุทธิ์ ไม่ได้มีอะไรคดโกง ตรงไปตรงมา เรื่องที่เกิดขึ้นเราเชื่อว่าประเด็นข้อเท็จจริง ข้อกฎมหาย หยิบยกขึ้นมาต่อสู้ได้แน่นอน ข้อเท็จจริงเหล่านี้ถึงแม้ว่าศาลชั้นต้นคือศาลแพ่งได้รับไปพิจารณาอาจมีข้อผิดพลาดก็ได้ เพราะมีทั้งเหตุผลทางเทคนิคที่เข้าใจยาก"นายชนินท์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
สำหรับประเด็นที่บริษัทไม่ได้ตั้งสำรองจากผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จ่ายค่าเสียหายให้กับฝ่ายโจทก์นั้น นายชนินท์ กล่าวว่า การตั้งสำรองหรือไม่นั้นขึ้นกับวิจารณญาณของผู้สอบบัญชี ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นคำพิพากษาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายยังมีความไม่แน่นอนอีกมาก บริษัทยังมีส่วนของทุนและกำไรสะสมอยู่มากพอ ดังนั้นการจะตั้งสำรองหรือไม่จึงไม่ใช่ประเด็น ซึ่งฝ่ายบริหารก็เห็นตามนั้น