ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ BANPU ที่ AA-/Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 22, 2012 14:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ. บ้านปู (BANPU) ที่ระดับ “AA-" โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนความเป็นผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมถ่านหินในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนความหลากหลายของแหล่งถ่านหินและฐานลูกค้า รวมถึงรายได้เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้า การจัดอันดับเครดิตยังคำนึงถึงฐานะการเงินที่มั่นคงของบริษัท ความสามารถของบริษัทในการปรับลดเงินลงทุนและลดต้นทุนในการดำเนินงานในภาวะที่อุตสาหกรรมถ่านหินชะลอตัว ทั้งนี้ การปรับลดลงของราคาถ่านหิน แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตของบริษัท

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทบ้านปูจะยังคงรักษาสถานะทางการเงินและสภาพคล่องทางการเงินที่ดีไว้ได้ แผนการลดต้นทุนและความยืดหยุ่นในการปรับลดแผนลงทุนจะช่วยให้บริษัทสามารถประคองตัวในภาวะซบเซาของอุตสาหกรรมถ่านหินไว้ได้ ทั้งนี้ เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยบรรเทาผลกระทบบางส่วนที่เกิดจากภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจถ่านหินที่มีความท้าทายมากขึ้น

ทริสเรทติ้งรายงานว่า BANPU เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานรายใหญ่ในเอเชียซึ่งก่อตั้งในปี 2526 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตถ่านหินในประเทศไทย บริษัทขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยปัจจุบันมีแหล่งถ่านหินอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย จีน และมองโกเลีย ธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียยังคงเป็นแหล่งสร้างกำไรหลักของบริษัท

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 กำไรจากธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียมีสัดส่วน 66% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) กำไรจากธุรกิจถ่านหินในประเทศออสเตรเลียคิดเป็น 23% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรจากธุรกิจในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 9% ของ EBITDA และกำไรจากประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของ EBITDA เมื่อพิจารณาในด้านประเภทธุรกิจแล้ว กำไรจากธุรกิจถ่านหินในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2555 คิดเป็นสัดส่วน 91% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรส่วนที่เหลือในสัดส่วน 9% มาจากธุรกิจไฟฟ้า

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ปริมาณการผลิตถ่านหินของกลุ่มบ้านปู (ไม่รวมประเทศจีน) คิดเป็นจำนวน 31.1 ล้านตัน โดยประกอบด้วยถ่านหินที่ผลิตในประเทศอินโดนีเซีย 19.5 ล้านตันและในประเทศออสเตรเลีย 11.6 ล้านตัน ณ เดือนกันยายน 2555 ปริมาณสำรองถ่านหินของบริษัทในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียมีจำนวนรวม 803 ล้านตัน ในขณะที่ปริมาณสำรองถ่านหินคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 581 ล้านตัน ปริมาณสำรองดังกล่าวเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตราว 19 ปี

ราคาถ่านหินในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 เนื่องจากปัญหาอุปทานถ่านหินส่วนเกินซึ่งสืบเนื่องมาจากการเพิ่มปริมาณการผลิตของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่หลังจากราคาถ่านหินอยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกาบางรายได้เปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินมาเป็นเชลล์แก๊สเนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ต่ำกว่าปกติในประเทศสหรัฐอเมริกา

การเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวทำให้สหรัฐอเมริกาส่งออกถ่านหินเพิ่มขึ้น ดัชนี Barlow Jonker Index ซึ่งเป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการซื้อขายถ่านหินปัจจุบันในเอเชียได้ปรับตัวลดลงจาก 123 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในเดือนกันยายน 2554 เป็น 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในเดือนพฤศจิกายน 2555 ธุรกิจถ่านหินของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 จึงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากราคาถ่านหินที่อ่อนตัวลงและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลงเป็น 40.7% จาก 44.7% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาถ่านหินปรับตัวลดลง 19.1% ในช่วงเวลาเดียวกัน

หลังจาก BANPU ได้หันมาเน้นการลดต้นทุนในเหมืองที่อินโดนีเซียและออสเตรเลีย อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจถ่านหินสามารถทรงตัวอยู่ได้ในระดับ 39.1% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ใกล้เคียงกับอัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 แม้ว่าราคาขายถ่านหินเฉลี่ยของบริษัทจะลดลงเป็น 79.74 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน หรือลดลง 11.7% เมื่อเทียบกับราคาขายเฉลี่ยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ที่ผ่านมาก็ตาม

ธุรกิจไฟฟ้าซึ่งให้ผลกำไรในสัดส่วน 9% ของ EBITDA รวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เป็นไปอย่างราบรื่น ในประเทศไทยบริษัทบ้านปูถือหุ้น 50% ในบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP Power Ltd. -- BLCP) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินขนาด 1,434 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer — IPP) BLCP นำส่งกำไรตามวิธีส่วนได้เสียจำนวน 2,092 ล้านบาทแก่บริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ธุรกิจผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในประเทศจีนให้ผลกำไร EBITDA จำนวน 26.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 37.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากราคาถ่านหินที่ลดลง

แม้ว่า BANPU เผชิญกับราคาถ่านหินที่อ่อนตัวลง EBITDA ของบริษัทยังทรงตัวในระดับ 23,793 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เนื่องมาจากบริษัทได้มีการทำสัญญาขายถ่านหินระยะยาวในช่วงที่ราคายังอยู่ในระดับสูง ปริมาณขายถ่านหินที่สูงขึ้น กำไรที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจไฟฟ้า และกำไรจากสัญญาอนุพันธ์ถ่านหินและดอกเบี้ย อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ย(ต่อหน้า 2)

จ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA Interest Coverage Ratio) ลดลงเป็น 9.2 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 จาก 10.5 เท่าในปี 2554

โครงสร้างเงินทุนของบริษัทบ้านปูนับว่าแข็งแรง หลังจากอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างทุนปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 51.6% ในเดือนธันวาคม 2553 อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็น 42.4% ในปี 2554 อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 44.7% ในเดือนกันยายน 2555 เพื่อดูแลรักษาสภาพคล่องทางการเงินบริษัทได้ประกาศลดงบประมาณสำหรับการลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้าลงในอัตรา 30% จากงบลงทุนเดิม โดยงบลงทุนในช่วงปี 2555-2558 ได้ปรับลดลงเหลือ 1,248 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 1,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

บริษัทได้ปรับแผนการลงทุนสำหรับการพัฒนาและการขยายกำลังการผลิต นอกจากนี้ บริษัทได้ทำแผนลดต้นทุน รวมถึงการลดอัตรา Stripping Ratio ที่เหมืองอินโดนีเซีย แผนการลดต้นทุนดังกล่าวน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาอัตรากำไรจากการดำเนินงานไม่ให้ลดลงมากในภาวะที่ราคาถ่านหินอ่อนแอ หากสมมติฐานว่าราคาถ่านหินยังคงอ่อนแอคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ระดับ 850-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

ขณะที่บริษัทมีกำหนดการชำระหนี้คืนปีละ 350-400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า กระแสเงินสดจากการดำเนินงานยังเพียงพอต่อแผนการลงทุน การจ่ายปันผลและการชำระหนี้ตามกำหนด อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนจะยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้และต่ำกว่านโยบายโครงสร้างเงินทุนของบริษัท

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้ BANPU ชำระค่าเสียหายให้กับโจทก์คือ นายศิวะ งานทวีและผู้เกี่ยวข้อง สำหรับความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่เมืองหงสาในประเทศลาว หากบริษัทต้องชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษา มูลค่าเงินชดเชยความเสียหายรวมเป็น 33,240 ล้านบาท บริษัทไม่เห็นด้วยต่อคำพิพากษาของศาลแพ่งและอยู่ระหว่างใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ เนื่องจากคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด และยังต้องผ่านการพิจารณาของศาลอุทธรณ์และอาจรวมถึงศาลฏีกา บริษัทจึงยังไม่ต้องชำระค่าเสียหายในขณะนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ