พร้อมกันนั้น บิลท์ แลนด์ ยังจะมองโอกาสที่เหมาะสมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET ในอนาคตด้วย โดยก่อนหน้าที่จะเข้าตลาดหุ้นก็คงจะต้องมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนชำระแล้วให้เป็น 300 ล้านบาท จากปัจจุบันมีอยู่ 200 ล้านบาท เพื่อได้ให้คุณสมบัติตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) รวมถึงกระจายหุ้นและมีองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัทให้เป็นไปตามเกณฑ์การเป็นบริษัทมหาชน
"บิลท์ แลนด์จะแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเพื่อรองรับการเปิดโครงการใหญ่ หวังว่าในอนาคตจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยเพื่อระดมทุนเมื่อมีความพร้อมด้านความต่อเนื่องของรายได้ในอนาคตที่กำลังจะมีการเปิดโครงการขนาดใหญ่"นายชัยรัตน์ กล่าว
นายชัยรัตน์ เปิดเผยว่า ในปี 56 บิลท์ แลนด์ มีแผนจะเปิดโครงการขนาดใหญ่ 2 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 2.5 พันล้านบาท เป็นการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในแนวเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งฝั่งธนและด้านสุขุมวิท คาดเริ่มเปิดการขายพร้อมกับก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 4/56 นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดหาที่ดินเพื่อทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียมขนาดกลางเพิ่มอีกอย่างน้อย 1- 2 โครงการ โดยมีเป้าหมายจะสร้างยอดขายให้ได้อย่างน้อย 3 พันล้านบาท เพื่อผสมผสานระหว่างโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่รับรู้รายได้ในระยะเวลาสั้นและระยะปานกลาง
“ทางบริษัทฯได้ทำการซื้อที่ดินสองแปลง เพื่อเตรียมพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งจะเป็นโครงการ Hi — Rise และ Low — Rise อย่างละหนึ่งโครงการ และจะพัฒนาโครงการเพิ่มเติมรวมกันให้มี backlog รวม 3 พันล้านบาทภายในปี 56 โดยมีเป้าหมายพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับการรักษาความต่อเนื่อง และความสมดุลย์ในการสร้างรายได้ให้กับบิลท์แลนด์อย่างน้อยอีก 3 ปีข้างหน้า"นายชัยรัตน์ กล่าว
ส่วนการวางเป้าหมายในการทยอยรับรู้รายได้ในปี 56 ทางบริษัทฯจะทยอยรับรู้รายได้จากโครงการคอนโดมิเนียม และทาวน์เฮ้าส์ รวมทั้งสิ้น 650 ล้านบาท ขยายตัว 10% จากเป้าหมายการรับรู้รายได้ในปี 55 จำนวน 590 ล้านบาท โดยขณะนี้ทุกโครงการฯมียอดขายอยู่ในระดับ 80-90% ในทุกโครงการ ยกเว้นทาวน์เฮ้าส์ที่เพิ่งเริ่มเปิดขายและมียอดขายแล้วประมาณ 30% และตั้งเป้าหมายเริ่มทยอยรับรู้รายได้จากการลงทุนใหม่เพิ่มเติมตั้งแต่ปี 56-59
นายชัยรัตน์ กล่าวถึงมุมองต่อภาวะตลาดคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวใหม่เป็นจำนวนมากกว่า 5-6 หมื่นยูนิตในช่วงปี 55 ว่า ยอดขายน่าจะชะลอตัวลงในปี 56 ในบางทำเล และคงต้องใช้ระยะเวลาสักระยะหนึ่งในการระบายออกสู่ตลาด แต่คอนโดมิเนียมในแนวรถไฟฟ้ายังไปได้ดีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำจะช่วยสนับสนุนยอดขายอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายมากขึ้น ขณะที่อาจจะมีกำลังซื้อบางส่วนที่เปลี่ยนการลงทุนมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นจากภาวะดอกเบี้ยที่ไม่จูงใจให้ฝากเงินไว้กับสถาบันการเงิน
กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บิลท์แลนด์จะยังคงเน้นที่จุดเด่นของทำเลเป็นหลัก ในขณะที่ในปี 56 บริษัทฯจะเริ่มทำการตลาด และสร้างแบรนด์ของบริษัทบิลท์แลนด์ให้แข็งแรงมากขึ้นภายใต้จุดขาย คอนเซปต์ Smart Lifestyle โดยเตรียมงบประมาณสำหรับทำการตลาดไว้แล้วประมาณ 3% ของมูลค่าโครงการ โดยจะมีการทำจุดเด่นของแบรนด์"Tempo"เดิมให้ชัดเจนขึ้นว่าเป็นโครงการอสังหาฯ ที่อยู่ใกล้แนวเส้นทางรถไฟฟ้า และอาจมีการแตกแบรนด์ใหม่เพิ่มเติมอีก