(เพิ่มเติม) SSI เริ่มพลิกกำไรตั้งแต่ Q2/56ต้นทุนถูกลง-ผลิตเพิ่ม ดันปีหน้าพ้นขาดทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 26, 2012 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี(SSI)คาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะเริ่มพลิกเป็นมีกำไรตั้งแต่ไตรมาส 2/56 เนื่องจากต้นทุนที่ต่ำลงและกำลังการผลิตรวมทั้งในประเทศและโรงถลุงในอังกฤษปรับตัวสูงขึ้นตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งจะทำให้ทั้งปีหน้าบริษัทจะมีกำไรจากที่ขาดทุนในปีนี้

บริษัทยังจะเดินหน้าขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัดต่อไป แต่ก็ไม่จำเป็นต้องขายให้ได้ครบทั้งหมด เนื่องจากบริษัทจะได้รับเงินอีก 1.5 พันล้านบาทเข้ามาจากการขายหุ้นในบริษัทย่อยให้กับพันธมิตร

นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี(SSI) กล่าวว่า ไตรมาส 4/55 คาดว่าปริมาณขายจะใกล้เคียงกับไตรมาส 3/55 แบ่งเป็นเหล็กรีดร้อนในประเทศ 6.2 แสนตัน และเหล็กแท่งแบนที่อังกฤษ 6 แสนตัน ซึ่งจะให้ยอดขายในไตรมาส 4/55 สูงใกล้เคียงกับไตรมาส 3/55 ที่กว่า 1.5 หมื่นล้านบาท แต่อัตรากำไรขั้นต้นของโรงถลุงในอังกฤษน่าจะดีขึ้น ทำให้ผลประกอบการโดยรวมในไตรมาส 4/55 ปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาส 3/55 แม้ว่าจะยังขาดทุนอยู่ แต่ก็เชื่อว่าจะขาดทุนลดลง เช่นเดียวกับทั้งปี 55 ที่ยังคงขาดทุนอยู่

ไตรมาส 1/56 ผลประกอบการก็จะดีกว่าไตรมาส 4/55 เนื่องจากเป็นช่วงที่ราคาเหล็กโลกปรับตัวดีขึ้น ปริมาณการผลิตและการขายเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนเริ่มสมดุล ซึ่งจะทำให้ผลขาดทุนลดลงเรื่อยๆ และคาดว่าจะพลิกเป็นกำไรสุทธิในไตรมาส 2/56 จากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามแผนทั้งการผลิตในไทยและอังกฤษ เชื่อมโยงทั้งปลายน้ำและต้นน้ำ และรับผลจากราคาเหล็กที่ฟื้นตัว ขณะที่ต้นทุนการผลิตเริ่มถูกลงถึงระดับที่ทำกำไรได้ ก็จะทำให้ผลประกอบการทั้งปี 56 น่าจะเป็นกำไรสุทธิได้

ทั้งนี้ ราคาเหล็กโลกช่วง 2 สัปดาห์ปรับขึ้น 10% การปรับขึ้นรอบนี้ทั้งตลาดสหรัฐและยุโรป และเอเชีย โดยเฉพาะจีน

นายวิน กล่าวอีกว่า บริษัทยังคงเดินหน้าขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ลงทุนเฉพาะเจาะจง(PP)ในส่วนที่เป็นเครือสหวิริยาซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะยังคงต้องการเงินอีกจำนวนหนึ่ง จากที่ขายไปแล้วครึ่งหนึ่ง ส่วนการขายหุ้นให้พันธมิตร vanomet และให้ผู้ถือหุ้นเดิมคิดว่าไม่จำเป็นแล้ว หลังจากบริษัทได้เงินจากการเพิ่มทุนมาแล้ว 3,200 กว่าล้านบาท ยังต้องการเงินอีกเล็กน้อยก็จะปิดการขาย ประกอบกับ บริษัทมีแผนจะขายสินทรัพย์บางส่วนออกไป เช่น ขายหุ้นในบริษัทร่วมลงทุนให้กับพันธมิตรจะได้เงิน 1,500 ล้านบาท ทำให้ความจำเป็นในการขายหุ้นเพิ่มทุนให้ครบทั้งหมดมีลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ