(เพิ่มเติม) UAC ลุ้นปี 58 รายได้แตะ 3 พันลบ.,เล็งตั้งโรงงานผลิต Bio Oil ในพม่า-ไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 3, 2012 11:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์(UAC)คาดว่ารายได้จากพลังงานทดแทนจะเข้ามาเสริมธุรกิจเดิมที่เป็นการจำหน่ายอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ปกติมีอัตราเติบโตปีละ 10-15% โดยจะทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% ภายในช่วง 3 ปีข้างหน้าในช่วงการทยอยรับรู้รายได้ตามกำหนดที่แต่ละโครงการแล้วเสร็จ และคาดว่ารายได้จะพุ่งขึ้นเป็นกว่า 2 พันล้านบาทในปี 58 เมื่อโครงการโรงผลิตก๊าซแล้วเสร็จครบถ้วนตามแผนงาน และมีโอกาสลุ้นทำรายได้ถึง 3 พันล้านบาท หากราคาก๊าซปรับตัวสูงขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้
"อีก 3 ปีข้างหน้ารายได้พลังงานทดแทนจะทยอยเข้ามา ทำให้รายได้รวมของเราน่าจะโตเฉลี่ยถึง 30% ธุรกิจใหม่จะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มเป็น 60% ธุรกิจเดิม 40% ช่วงที่โรงก๊าซ CBG ทั้ง 20 แห่งกับโรงแยกก๊าซที่สุโขทัยแล้วเสร็จในปี 58 ก็จะมีรายได้เข้ามาเต็มที่ คาดว่ารายได้จะทำได้กว่า 2 พันล้านบาท และมีโอกาสจะไปถึง 3 พันล้านบาทด้วย"นายกิตติ กล่าว

ก่อนหน้านี้ UAC ระบุว่าตั้งเป้ารายได้ปี 56 ในระดับ 1.1 พันล้านบาท จากปีนี้ที่รายได้อาจจะพลาดเป้าที่ตั้งไว้ 1 พันล้านบาท เนื่องจากปัญหาการขนส่งล่าช้า

อย่างไรก็ตาม นายกิตติ กล่าวว่า กำไรในปีนี้ยังเติบโตขึ้นมาก โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีกำไรสูงกว่าทั้งปี 54 แล้ว และคาดว่าปลายปีน่าจะทำได้ดีอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ดีเช่นกัน ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายปันผล 40% ของกำไรสุทธิ

นายกิตติ กล่าวว่า บริษัทยังมีการลงทุนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนธุรกิจเพื่อดำเนินโครงการผลิต Bio Oil จากของเสียในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม โดยเฉพาะกากปาล์ม ซึ่งผลผลิตที่ได้มีคุณสมบัติใกล้เคียงน้ำมันเตา และมีค่าพลังงานความร้อนเท่ากับครึ่งหนึ่งของน้ำมันเตา มีโรงงานแห่งแรกเป็นต้นแบบที่มาเลเซีย โดยกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานในพม่า และทางภาคใต้ของไทย

ทั้งนี้ บริษัทได้เจรจากับผู้ร่วมทุนในพม่าอย่างต่อเนื่องและคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นธุรกิจท้องถิ่นในพื้นที่เกาะสองที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่ และมีโรงสกัดน้ำมันปาล์มขนาด 8 แสนลิตร/วัน แต่เนื่องจากพม่ายังมีการใช้น้ำมันไม่มากนัก บริษัทจึงมองว่าไม่คุ้มกับการผลิตไบโอดีเซล ในขณะที่ความต้องการใช้พลังงาน โดยเฉพาะไฟฟ้า ในพม่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งผลิตภัณฑ์ Bio Oil สามารถนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าได้ และพม่ายังไม่ได้ทำของเสียจากกระบวนการผลิตปาล์มไปใช้ประโยชน์มากนัก ทำให้มีความเสียงในด้านวัตถุดิบค่อนข้างต่ำ

ส่วนในไทยนั้น บริษัทมีแผนจะร่วมมือกับพันธมิตร ตั้งโรงงาน Bio Oil ในแหล่งปลูกปาล์มทางภาคใต้ของไทย โดยมองพื้นที่ใน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งขณะนี้ทั้งสองพื้นที่อยู่ระหว่างการทำ Business Model เพื่อพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุน

ขณะที่โครงการร่วมทุนระบบน้ำดีและน้ำเสียในพม่ากับ บมจ.ไฮโครเทค(HYDRO)ที่ UAC ถือหุ้นในสัดส่วน 50% เศษ โครงการแรกจากทั้งหมด 2 โครงการ ใกล้ได้ข้อสรุปและน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีหน้า ซึ่งเป็นโครงการระบบบำบัดน้ำเสียให้กับนิคมอุตสาหกรรมในเมืองมัณฑะเลย์ มูลค่าลงทุนราว 300-400 ล้านบาท คาดว่าจะทำรายได้ราว 200 ล้านบาท/ปี ส่วนโครงการผลิตน้ำประปาและบำบัดน้ำเสียแห่งที่ 2 มูลค่าลงทุนราว 800 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างรายได้ราว 300 ล้านบาท/ปี น่าจะเริ่มสร้างได้กลางปีหน้าและแล้วเสร็จในปี 58

นายกิตติ กล่าวว่า บริษัทยังเดินหน้าโครงการผลิตก๊าซชีวภาพอัดความดันสูง(CBG)อีก 20 แห่งทั้งลงทุนเองและร่วมทุนกับภาคธุรกิจท้องถิ่นที่จะแล้วเสร็จและสร้างรายได้เต็มที่ในปี 58 โดยจะตั้งโรงผลิตก๊าซส้วนใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและขอนแก่น ซึ่งในส่วนของโครงการร่วมทุนนั้น บริษัทได้พันธมิตรท้องถิ่นเป็นธุรกิจปั๊มน้ำมันรายใหญ่ใน จ.ขอนแก่นแข้ามาร่วมด้วย ขณะที่โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 10% ของวงเงินลงทุนแต่ละโครงการที่คาดว่าจะใช้ราว 100 ล้านบาท

"เราคาดว่า CBG แต่ละโครงการจะมีรีเทิร์น 15-20% ใช้เวลา 5-6 ปีจะคุ้มทุน"นายกิตติ กล่าว

พร้อมกันนั้น บริษัทยังมีการศึกษาแนวทางการลดความเสี่ยงด้านวัตถุดิบของโครงการ CBG ด้วยการนำกากพืชและผลไม้มาทดลองหมักเพื่อผลิตก๊าซ หลังจากที่ได้นำหญ้าเนเปียร์ (หญ้าเลี้ยงช้าง)ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นคือเติบโตได้เร็วมาเป็นวัตถุดิบร่วมกับมูลสัตว์ที่ได้จากฟาร์มสุกร คาดว่าจะได้ข้อสรุปผลการศึกษาในเร็ว ๆ นี้

"เรามีความเสี่ยงด้านวัตถุดิบ ปริมาณขึ้นกับฟาร์มสุกร แม้ว่าจะมีสัญญาระยะยาว 15 ปีเท่ากับสัญญาที่เราขายก๊าซ LPG ให้กับปตท. แต่ก็อาจะเกิดโรคระบาดทำให้ปริมาณหมูและของเสียลดลง เราจึงได้หันมาใช้พืชพลังงานมาเสริม และตอนนี้ก็มองเห็นว่าของเสียจากพืชและผลไม้ในภาคเหนือมีปริมาณมาก โดยเฉพาะจากโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เราก็กำลังทดสอบอยู่"นายกิตติ กล่าว

สำหรับโครงการผลิตไบโอดีเซลที่อยุธยา ซึ่ง UAC ร่วมทุนกับ บมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP) ในนามบริษัท บางจากไบโอฟลูเอล จำกัด คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปีหน้าเช่นกัน ส่วนโครงการโรงแยกก๊าซ Petroleum Product Production (PPP) ที่ จ.สุโขทัย จะก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 1/56 และเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2/56 และบริษัทยังอยู่ระหว่างมองโอกาสในการลงทุนตั้งโรงแยกก๊าซแห่งที่ 2 ในสุโขทัยไปพร้อม ๆ กับแหล่งปิโตรเลียมที่อยู่ระหว่างการสำรวจปริมาณสำรองเพิ่มเติม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปลายปี 56

นายกิตติ กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทได้มีการเพิ่มทุนเพื่อจำหน่ายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิมและจะจัดสรรหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปที่คาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือน ม.ค.56 นี้ รวมกับการออกวอร์แรนต์อีกส่วนหนึ่ง และการใช้เงินกู้จากสถาบันการเงิน ก็คาดว่าจะเพียงพอกับการลงทุนตามที่ได้วางแผนงานไว้โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนอีกภายใน 3 ปีจากนี้ และบริษัทมีเป้าหมายจะรักษาสัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)ไม่ให้เกิน 1 เท่า จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 0.5 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ