ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร OISHI ที่ A- แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 4, 2012 16:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มในประเทศไทย ตลอดจนการมีตราสัญลักษณ์สินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างดี และโอกาสทางการเติบโตของบริษัท ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการสนับสนุนที่บริษัทได้รับจากบริษัทแม่คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางและมีโรงงานผลิตขนาดใหญ่ด้วย

จุดแข็งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง การมีสินค้าทดแทนได้ง่าย อัตราการทำกำไรที่อ่อนตัวลง และแนวโน้มที่บริษัทจะลงทุนโดยใช้เงินทุนจากเงินกู้ในอนาคต

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทโออิชิ กรุ๊ปจะยังคงสามารถรักษาความแข็งแกร่งของตราสินค้าและสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันทั้งในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเอาไว้ได้ต่อไป นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่าในกรณีที่มีแผนการลงทุนในอนาคต บริษัทจะใช้เงินทุนจากการดำเนินงานบางส่วนในการลงทุนเพื่อคงระดับโครงสร้างเงินทุนให้เหมาะสมด้วยเช่นกัน

ทริสเรทติ้งรายงานว่า OISHI แข่งขันในธุรกิจหลัก 2 ประเภท คือ ธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และธุรกิจอาหาร โดยใช้ตราสินค้าหลักคือ “โออิชิ" (Oishi) และเน้นเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่น บริษัทมีโรงงานหลัก 2 แห่งในนิคมอุตสาหกรรมนวนครและอมตะนคร ด้วยกำลังการผลิตเครื่องดื่มรวม ณ เดือนกันยายน 2555 ที่ 360 ล้านลิตรต่อปี โดยที่โรงงานนวนครยังเป็นครัวกลางสำหรับธุรกิจอาหารด้วย

ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 โรงงานและสิ่งอำนวยความสะดวกของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมนวนครได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งใหญ่ เพื่อบรรเทาการขาดแคลนสินค้าจากผลกระทบที่เกิดจากน้ำท่วม บริษัทจึงได้จัดจ้างบริษัทภายนอกทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศซึ่งรวมถึงบริษัทไทยเบฟเวอเรจให้ทำการผลิตเครื่องดื่มจัดส่งให้แก่บริษัท

ส่วนธุรกิจอาหารนั้น บริษัทได้ย้ายครัวกลางไปยังนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครและอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี และได้จัดจ้างบริษัทภายนอกผลิตเส้นบะหมี่ นอกจากนี้ ยังได้ย้ายงานด้านการปรุงส่วนประกอบอาหารบางประเภทไปที่สาขาร้านอาหารโดยตรงด้วย

ปัจจุบัน การดำเนินงานในนวนครได้กลับคืนสู่ภาวะปกติ บริษัทวางแผนจะสร้างโรงงานใหม่อีก 2 แห่ง โดยแห่งแรกใช้เป็นครัวกลางที่จังหวัดชลบุรี และอีกแห่งที่จังหวัดสระบุรีจะใช้เป็นฐานการผลิตเครื่องดื่มโดยใช้เทคโนโลยีการบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อ (Cold Aseptic Filling -- CAF)

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า แม้ว่าโรงงานในนวนครจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ยอดขายของบริษัทในปี 2554 ยังเติบโตถึง 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ 9,501 ล้านบาท และเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 13% สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การเติบโตสะท้อนถึงความสามารถของบริษัทในการจัดการห่วงโซ่อุปทานและการบริหารช่องทางกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นหลังน้ำท่วม

นอกจากนี้ การเติบโตยังมาจากการขยายจำนวนสาขาร้านอาหาร การส่งเสริมการขาย และกิจกรรมทางการตลาดด้วยเช่นกัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเครื่องดื่มสร้างรายได้ประมาณ 54%-58% ของรายได้รวมของบริษัท ในขณะที่ธุรกิจอาหารสร้างรายได้ในส่วนที่เหลือ

OISHI เป็นผู้นำในตลาดชาพร้อมดื่มภายในประเทศภายใต้ตราสินค้าชาเขียว “โออิชิ" บริษัทยังจำหน่ายชาเขียวผสมโซดา เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมทั้งกาแฟพร้อมดื่มด้วย โดยชาเขียวเป็นสินค้าหลักของบริษัทที่สร้างรายได้มากกว่า 90% ของยอดขายเครื่องดื่ม ชาเขียว “โออิชิ" มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 50% ในตลาดชาพร้อมดื่ม

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทลดลงเนื่องจากมีตราสินค้าของคู่แข่งเข้ามาแข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้นและยังเป็นผลมาจากการส่งเสริมการขายเชิงรุกของคู่แข่งด้วย บริษัทตอบโต้ด้วยการนำเสนอสินค้าในบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ ๆ และนำเสนอกลุ่มผลิตภัณฑ์ครบทุกระดับราคาเพื่อสนองความต้องการของลูกค้าในทุกกลุ่มตลาด และเมื่อไม่นานมานี้บริษัทยังได้ออกผลิตภัณฑ์ชาเขียว “โออิชิ" ในขวดแก้วแบบคืนขวดเพื่อหาโอกาสทางการตลาดในร้านอาหารท้องถิ่นด้วย

สำหรับธุรกิจอาหารนั้น บริษัทดำเนินธุรกิจเครือข่ายภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น อาหารแช่แข็งและแช่เย็น ตลอดจนธุรกิจบริการจัดส่งอาหารและจัดเลี้ยง กลยุทธ์หลักของบริษัทคือเน้นการขยายจำนวนสาขาให้ครอบคลุมตลาดมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มความหลากหลายของประเภทอาหาร ช่วงกลางปี 2555 ที่ผ่านมา บริษัทได้นำเสนอสินค้าสาหร่ายทอดกรอบสไตล์ญี่ปุ่น “Onori" และเปิดร้านอาหารใหม่ชื่อ “Kakashi" ซึ่งเสนอเมนูข้าวราดหน้าสไตล์ญี่ปุ่น ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 บริษัทมีเครือข่ายภัตตาคารรวม 148 สาขา ทั้งนี้ เครือข่ายภัตตาคารสร้างรายได้กว่า 95% สำหรับธุรกิจอาหารของบริษัท

บริษัทได้รับการสนับสนุนในหลาย ๆ ด้านจากบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งรวมถึงคณะผู้บริหารที่แต่งตั้งเข้ามา เมื่อรวมกับเครือข่ายของ บมจ.เสริมสุข แล้ว ถือว่าบริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นผู้จัดจำหน่ายที่ครอบคลุมตลาดกว้างขวางที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ เครือข่ายขนาดใหญ่ดังกล่าวสามารถขนส่งผลิตภัณฑ์ของ OISHI ครอบคลุมถึงกลุ่มเป้าหมายในทุกช่องทาง และยังขยายไปยังกลุ่มตลาดใหม่ ๆ นอกจากนี้ ยังเกิดประโยชน์ในการผสานพลังกันในด้านการผลิตด้วย โดยโรงงานผลิตขนาดใหญ่ของบริษัทไทยเบฟเวอเรจช่วยเสริมการผลิตในช่วงขาดแคลนสินค้าของบริษัท ตลอดจนยังสนับสนุนการผลิตสินค้าใหม่ ๆ ด้วยต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ และการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทไทยเบฟเวอเรจยังทำให้บริษัทมีอำนาจต่อรองในด้านต่าง ๆ กับคู่ค้าได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทเกิดจากยอดขายที่เติบโตและสภาพคล่องที่เพียงพอ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทอยู่ที่ระดับ 15%-16% ระหว่างปี 2551 ถึงปี 2553 อัตรากำไรลดลงมาอยู่ที่ 13.6% ในปี 2554 และ 11.2% สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เนื่องจากบริษัทได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ประกอบกับมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้น

ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้จากการขายของบริษัทสำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 24.4% จาก 22.4% ในปี 2554 เพราะบริษัทเพิ่มค่าใช้จ่ายโฆษณาและการส่งเสริมการขายเพื่อช่วยกระตุ้นยอดขาย และยังมีค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนจากการขนส่งสินค้าเนื่องจากบริษัทต้องบริหารครัวกลางถึง 2 แห่งพร้อมกัน คาดว่าค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจะยังคงสูงต่อเนื่องต่อไปในระยะปานกลางจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในธุรกิจเครื่องดื่ม

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการที่บริษัทได้นำระบบการผลิตแบบใหม่โดยใช้เทคโนโลยี CAF จะสามารถช่วยลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์ลงได้ นอกจากนี้ ระบบการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีใหม่นี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพซึ่งเป็นคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนด้วย

แม้ว่าผลประกอบการด้านยอดขายจะเติบโต แต่ผลกระทบจากน้ำท่วมและการแข่งขันที่รุนแรงก็ลดทอนเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทลงไป OISHI สร้างเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวน 1,304 ล้านบาทในปี 2554 เปรียบเทียบกับ 1,454 ล้านบาทในปี 2553 และอยู่ที่ระดับ 884 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ระดับความสามารถในการชำระหนี้จึงอ่อนตัวลงจากระดับที่สูงผิดปกติในอดีต แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 50.1% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 32.9 เท่า ระดับหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจาก 600 ล้านบาทในปี 2553 มาอยู่ที่ 1,766 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการขยายสาขาร้านอาหารและเป็นเงินลงทุนในสายการผลิตเครื่องดื่มสายใหม่เป็นหลัก เป็นผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 18.3% ในปี 2553 เป็น 28.9% ในปี 2554 และ 36.6% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 คาดว่าในช่วงระยะปานกลาง ระดับภาระหนี้สินจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทมีแผนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนประมาณ 2,400-2,700 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2556-2558 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทใช้เงินทุนจากการดำเนินงานบางส่วนเป็นค่าใช้จ่ายฝ่ายทุน และคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะคงระดับไม่ให้เกิน 50% ต่อไปในอนาคต

โอกาสการเติบโตสำหรับธุรกิจอาหารและธุรกิจเครื่องดื่มยังคงดีอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ยังคงให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพ คาดว่าตลาดของธุรกิจทั้ง 2 ประเภทนี้จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไปในระยะปานกลาง อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในตลาดทั้ง 2 ประเภทนี้ถือว่ามีความรุนแรงเนื่องจากมีผู้แข่งขันจำนวนมากและมีสินค้าทดแทนได้ง่าย โดยมีการนำกิจกรรมทางการตลาดและส่งเสริมการขายมาใช้กระตุ้นความต้องการอยู่เสมอ ในระยะหลัง การแข่งขันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาด บริษัทยังต้องเผชิญกับความท้าทายในหลาย ๆ ด้านเนื่องจากบริษัทโออิชิ กรุ๊ปมีเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดขายที่ทำกำไร ตลอดจนพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ และรักษาตำแหน่งความเป็นผู้นำตลาดชาพร้อมดื่มเอาไว้ให้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ