ทั้งนี้ การดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2535 มีคณะกรรมการตามมาตรา 13 เป็นผู้เจรจาค่าตอบแทน แต่ยังเห็นว่าน่าจะสามารถที่จะปรับลดราคาลงได้อีก ซึ่งจะเสนอเป็นความเห็นเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ด้วย ส่วนอำนาจในการต่อรองอยู่ที่คณะกรรมการตามมาตรา 13
สำหรับราคาที่คณะกรรมการตามมาตรา 13 ตกลงไว้มี 2 เงื่อนไข คือ การที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน มูลค่า 79,983 ล้านบาท และหากไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน มูลค่า 80,365 ล้านบาท โดยค่าตอบแทนที่ BMCL จะได้รับแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นค่าอุปกรณ์งานระบบ มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านการเงิน 6 พันล้านบาท รวมเป็น 2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีค่าบริการเดินรถ 5.9 หมื่นล้านบาท มีระยะเวลาสัญญาสัมปทาน 30 ปี แบ่งเป็นลงทุนระบบอาณัติสัญญาณเดินรถไฟฟ้า 4 ปี และระยะเวลาเดินรถ 26 ปี หากบริษัทลงทุนเร็วก็จะมีระยะเวลาเดินรถนานขึ้น โดย BMCL จะลงทุนรถไฟฟ้า 21 ขบวน หรือ 63 ตู้ เพื่อใช้วิ่งในระยะทางประมาณ 22 กม.ที่มีสถานีรถไฟฟ้าจำนวน 16 สถานี
ส่วนความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท รมว.คมนาคม กล่าวว่า ให้ รฟม. สรุปรายละเอียดข้อมูล เปรียบเทียบให้เห็นว่าตามแผนเดิมจะหยุดที่ตลาดมีนบุรี แต่มีการเสนอให้ขยายไปทางแนวถนนสุวินทวงศ์ ต้องพิจารณาปริมาณผู้โดยสาร แนวเส้นทาง ความเป็นไปได้ทางเทคนิค และจะยกเลิกสถานีมีนบุรีหรือไม่ ต้องพิจารณาและมีเหตุผลที่รอบคอบและชัดเจน