สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB145B (อายุ 1.4 ปี) LB176A (อายุ 4.6 ปี) และ LB196A (อายุ 6.5 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 11,392 ล้านบาท 9,220 ล้านบาท และ 8,942 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB12D25A (อายุ 14 วัน) CB13307C (อายุ 91 วัน) และ CB13103C (อายุ 28 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 45,249 ล้านบาท 23,419 ล้านบาท และ 16,025 ล้านบาท ตามลำดับ
ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (TLT12DA (AAA)) มูลค่าการซื้อขาย 456 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีสจำกัด มหาชน รุ่น AYCAL145A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 402 ล้านบาท และ หุ้นกู้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รุ่น THAI155A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 343 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวอยู่ในกรอบแคบๆ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุน้อยกว่า 1 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุตั้งแต่ 5 ปี ถึง 15 ปีปรับตัวลดลงในช่วง -2 ถึง -3 Basis Point และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ +2 Basis Point ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ลดลงไปบ้างจากสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆเข้ามากระทบตลาดมากนัก แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงกังวลถึงปัญหามาตรการทางการคลังของสหรัฐ (Fiscal Cliff) ที่อยู่ระหว่างการหารือถึงการแก้ไขปัญหา ซึ่งประธานาธิบดีโอบามาเชื่อว่าจะมีความชัดเจนในช่วงก่อนวันคริสมาสต์สำหรับปัจจัยทางฝั่งยุโรปที่มีผลต่อตลาดตราสารหนี้ เริ่มจากการที่ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ลดอันดับความน่าเชื่อถือกรีซลงเป็น “Selective Default” หรือ ผิดนัดชำระหนี้บางส่วน นอกจากนี้กรีซได้จัดทำโครงการรับซื้อพันธบัตรคืนวงเงิน 1 หมื่นล้านยูโรที่ครบกำหนดปี 2566 -2575 ในราคาประมาณ 34.1% จากหน้าตั๋ว ซึ่งทาง EU และ ECB มั่นใจว่ากรีซจะรับซื้อพันธบัตรคืนได้ตามวงเงิน 1 หมื่นล้านยูโร หากเป็นไปตามแผนจะทำให้หนี้สาธารณะลดลง และเปิดทางให้ EU และ ECB พิจารณาเงินช่วยเหลือ 3.44 หมื่นล้านยูโร ในวันที่ 13 ธค.นี้
สำหรับความเคลื่อนไหวในประเทศ อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ +2.74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (yoy) ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนตุลาคมที่ระดับ 3.32% yoy ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ +1.85% ซึ่งยังคงอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง สอดคล้องกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงถึงภาวะเศรษฐกิจในเดือนตุลาคมว่ายังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งการบริโภคและการลงทุนขยายตัวในเกณฑ์ดี
ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภทรวมกัน (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) 14,886 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการขายสุทธิ 2,840 ล้านบาท