อันดับเครดิตสะท้อนถึงความหลากหลายของธุรกิจ ตลอดจนสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง และคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการขยายตัวของธุรกิจโรงแรมซึ่งเป็นผลมาจากกลยุทธ์การรับจ้างบริหารโรงแรมและธุรกิจอาหารแบบแฟรนไชส์ รวมถึงการขยายกิจการในต่างประเทศทั้งในส่วนของธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหารบริการด่วนด้วย
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากนโยบายการเติบโตแบบเชิงรุกของบริษัท ตลอดจนลักษณะของธุรกิจโรงแรมที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขันที่รุนแรง และอัตรากำไรที่ต่ำของธุรกิจอาหารบริการด่วนและธุรกิจจัดจำหน่าย
ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นโดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมและทรัพย์สินของบริษัทที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาระหนี้อาจส่งผลในทางลบต่อคุณภาพเครดิตของบริษัท
บริษัทก่อตั้งในปี 2521 โดย Mr. William Ellwood Heinecke บริษัทดำเนินธุรกิจโฮลดิ้งโดยการถือหุ้นในบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจหลัก 3 ประเภท ได้แก่ 1) ธุรกิจโรงแรมและพัฒนาโครงการ 2) ธุรกิจอาหารบริการด่วน และ 3) ธุรกิจจัดจำหน่ายและรับจ้างผลิตสินค้า ประมาณ 40% ของรายได้ของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 มาจากธุรกิจอาหารบริการด่วน ส่วนรายได้จากธุรกิจโรงแรม ธุรกิจจัดจำหน่าย และธุรกิจที่อยู่อาศัย คิดเป็น 39%, 10% และ 9% ตามลำดับ
ณ เดือนกันยายน 2555 บริษัทมีโรงแรมภายใต้การบริหารงานจำนวน 80 แห่งโดยมีจำนวนห้องมากกว่า 10,000 ห้อง ซึ่งโรงแรมของบริษัทตั้งอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำใน 9 ประเทศซึ่งครอบคลุมเขตเอเชียแปซิฟิก อัฟริกาใต้ และตะวันออกกลาง จากจำนวนห้องภายใต้การบริหารงานทั้งหมดบางส่วนเป็นโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของและบางส่วนเป็นโรงแรมภายใต้การรับจ้างบริหารจัดการ รวมถึงโรงแรมภายใต้สัญญาบริหารโครงการเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ภายใต้การดำเนินงานโดย Oaks Hotel & Resorts Ltd. (Oaks) บริษัทบริหารและดำเนินงานโรงแรมเหล่านี้ภายใต้เครือโรงแรมที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก เช่น Mariott, Four Seasons และ St. Regis และภายใต้เครือโรงแรมของบริษัทเองคือ Anantara, Oaks, Elewana, Naladhu และ Avani
สำหรับธุรกิจอาหารบริการด่วนนั้น บริษัทดำเนินกิจการผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท เดอะไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (MFG) ซึ่งก่อตั้งในปี 2523 MFG เป็นผู้ดำเนินกิจการธุรกิจอาหารบริการด่วนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศโดยเป็นเจ้าของและผู้ประกอบการอาหารบริการด่วนแบบแฟรนไชส์ของต่างประเทศจำนวน 4 แบรนด์ ได้แก่ “สเวนเซ่นส์" “ซิซซ์เล่อร์" “แดรี่ ควีน" และ “เบอร์เกอร์ คิง" รวมทั้งยังบริหาร “เดอะ พิซซ่า คอมปะนี" “เดอะค็อฟฟีคลับ" และ “ไทยเอ็กเพรส" ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าของบริษัทเองด้วย ณ เดือนกันยายน 2555 โดย MFG มีร้านอาหารเปิดให้บริการรวม 726 แห่ง ตลอดจนร้านแฟรนไชส์และแฟรนไชส์ย่อยอีกประมาณ 578 แห่งใน 15 ประเทศ
นอกจากนี้ บมจ.ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น (MINOR) ยังเป็นบริษัทย่อยอีกแห่งหนึ่งของบริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง และโรงงานรับจ้างผลิตสินค้าด้วย ปัจจุบัน MINOR เป็นผู้กระจายสินค้าต่าง ๆ ประมาณ 20 แบรนด์สินค้าผ่าน 226 ร้าน โดยมีแบรนด์สินค้าที่สำคัญ อาทิ Esprit, Gap, Bossini, Charles & Keith ฯลฯ
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 บริษัทมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สู่ระดับ 23,073 ล้านบาทเนื่องจากธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหารบริการด่วนปรับตัวดีขึ้น โดยรายได้ของธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้น 54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนสู่ระดับ 8,441 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555
การเติบโตอย่างแข็งแกร่งในส่วนของธุรกิจโรงแรมมีสาเหตุมาจากสภาวะความสงบเรียบร้อยทางการเมืองในประเทศไทย การควบรวมกับ Oaks และการเปิดให้บริการโรงแรมใหม่คือ Anantara Kihavah ที่เกาะมัลดีฟส์ และ St. Regis ที่กรุงเทพฯ ในส่วนของธุรกิจอาหารบริการด่วนซึ่งพึ่งพิงตลาดภายในประเทศและมีความยืดหยุ่นต่อความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจมากกว่านั้น รายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งที่ระดับ 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในส่วนของอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทโดยรวมนั้นปรับเพิ่มขึ้นจาก 15.7% ในปี 2554 เป็น 17.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555
โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนตัวลง ในขณะที่สภาพคล่องยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยสภาพคล่องเมื่อวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายปรับลดลงจาก 7.5 เท่าในปี 2553 มาอยู่ที่ 5.4 เท่าในปี 2554 แต่ก็ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.7 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับประมาณ 17% ระหว่างปี 2553 และปี 2554 และอยู่ที่ระดับ 14.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี)
ส่วนภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 14,368 ล้านบาทในปี 2553 มาอยู่ที่ 19,824 ล้านบาทในปี 2554 และ 22,818 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เนื่องจากการซื้อกิจการของ Oaks และ โรงแรมบุณฑริกา อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 53.1% ในเดือนธันวาคม 2553 เป็น 59.1% ในเดือนธันวาคม 2554 แต่ก็ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 58.7% ณ เดือนกันยายน 2555 เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้น
บริษัทมีแผนสร้างความเติบโตจากการลงทุนประมาณ 25,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยการลงทุนจะใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานและเงินกู้ใหม่บางส่วน ดังนั้นคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะลงทุนโดยใช้กระแสเงินสดภายในบางส่วนและสามารถบริหารจัดการโครงสร้างเงินทุนเพื่อไม่ให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงมากจนเกินไป