การลงทุนในโครงการ 3G อาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้บนคลื่นความถี่เดิมแต่เมื่อคิดรวมรายได้จากค่าสัมปทานคลื่นความถี่ใหม่ และรายได้จากภาษีทางตรงเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีทางอ้อมเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งรัฐเก็บจากภาคธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการมี 3G คาดว่ารัฐจะได้รับผลประโยชน์สุทธิเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาท
ขณะเดียวกันยังสร้างประโยชน์ให้แก่ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถต่อยอดช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่ธุรกิจไม่น้อยกว่าปีละ 3.3 หมื่นล้านบาท และยังส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในประเทศโดยรวมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานเกี่ยวเนื่องกับการลงทุนในโครงการ 3G อย่างเช่น เสาส่งสัญญาณ และอุตสาหกรรมปลายน้ำ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่นำเอาประโยชน์จาก 3G ไปใช้เป็นพื้นฐานต่อในการผลิต เช่น แอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ เป็นต้น ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมแล้วกว่าปีละ 6.3 หมื่นล้านบาท
ส่วนประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนโครงการ 3G ปีละ 6.2 หมื่นล้านบาท จากความสะดวกรวดเร็วและประหยัดเวลาในการเข้าชมเว็บไซต์บนโทรศัพท์มือถือที่รองรับ 3G ซึ่งมีความเร็วกว่า EDGE 30-35 เท่า และช่วยลดรายจ่ายของประชนที่ต้องจ่ายเพิ่มจากคุณภาพการบริการที่ไม่ดี เช่น ปัญหาสายหลุดขณะสนทนาเมื่อใช้คลื่นความถี่เดิม ซึ่งยังไม่รวมถึงต้นทุนความสะดวกสบายอื่นๆที่จะได้รับจากการใช้โทรศัพท์มือถือบน 3G เช่น การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารทางมือถือ และการใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลต่างประเทศฟรีผ่านระบบ VOIP เป็นต้น