ทั้งนี้สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้รวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอต่อกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ดูแลภาพรวมเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชนรองรับกฎหมายดังกล่าวของสหรัฐ โดย หากไม่มีกฎหมายไทยรองรับเป็นการเฉพาะ จะทำให้สถาบันการเงินไทยไม่สามารถดำเนินการตาม FATCA ได้ เนื่องจากความเสี่ยงทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของสถาบันการเงินในการหัก withholding tax รวมทั้งการรายงานข้อมูลของลูกค้า ซึ่งเป็นความลับส่วนบุคคล
การออกกฎหมายรองรับ ควรเป็นกฎหมายที่เป็นกลางสำหรับธุรกิจทุกประเภท เนื่องจากสถาบันการเงินทีเข้าข่าย FATCA มีทั้งธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจกองทุนรวม ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจประกันภัย ดังนั้นจึงควรมีองค์กรกลางทำหน้าที่ในการรวบรวมและนำส่งเงินที่ได้จากการหัก withholding tax และรายงาน IRS รองรับกรณีที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย FATCA ในอนาคต ซึ่งจะสะดวกและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งดำเนินการเอง
ส่วนการทำสัญญา IRS เพื่อยินยอมเข้าร่วมกฎ FATCA ไทยควรพิจารณาทำสัญญาในระดับรัฐบาลกับรัฐบาล เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายโดยรวม ทั้งในการจัดทำระบบรองรับ และการจ้างที่ปรึกษากฎหมายของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง เนื่องจากการทำสัญญาระดับรัฐบาลกับรัฐบาล จะทำให้การเจรจาต่อรองกับสหรัฐทำได้มากกว่า ซึ่งเรื่องนี้มีหลายประเทศดำเนินการแล้ว และได้รับการยกเว้นไม่ต้องดำเนินการในบางเรื่อง
นายไพบูลย์ กล่าวว่า กฎหมายของสหรัฐ จะมีผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุนและธุรกิจประกัน และอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศ อีกทั้งกระบวนการหัก withholding tax และการรายงานข้อมูลให้ IRS จะมีผลบังคับใช้ในปี 57 ซึ่งเหลือเวลาพิจารณาเพียง 1 ปี
"หวังว่ากระทรวงการคลังและรัฐบาลจะเห็นความสำคัญจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ต่อภาคการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม หวังว่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้โดยเร่งด่วน" นายไพบูลย์ กล่าว