ขณะที่บางโบรกฯ ยังมองว่าระยะยาวยังมีความเสี่ยงภาวะโอเวอร์ซัพพลายในตลาดโลก แม้ในประเทศคลี่คลายลงแล้ว และแนวโน้มราคาต้นทุนวัตถุหลักดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์ยังปรับสูงขึ้น ขณะที่การปรับราคาขายสินค้าตามน่าจะยังทำได้ไม่เต็มที่
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท) บล.เคทีบี(ประเทศไทย) ซื้อ 40.40 บล.กรุงศรีอยุธยา เก็งกำไร 33.00 บล.เอเซีย พลัส ซื้อ 38.88
นายปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้บริหารสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์และกลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี(ประเทศไทย)มองว่า ผลประกอบการของ CPF อยู่ในช่วงของการฟื้นตัว โดยเฉพาะไตรมาส 4/55 หากมองในระดับไตรมาส ก็น่าจะเริ่มแสดงถึงการพลิกฟื้นแล้วหลังจาก 2 ไตรมาสที่ผ่านมาคือในไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้เป็นภาพที่ตกต่ำลงในเชิงแนวโน้มการดำเนินงาน
ไตรมาส 4/55 ธุรกิจของ CPF น่าจะอยู่ในจุดต่ำสุดช่วงประมาณเดือน ต.ค.แต่จากนั้นในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.มองว่าธุรกิจหลักได้เริ่มแสดงถึงการพลิกฟื้นขึ้นมาแล้ว โดยเฉพาะธุรกิจไก่และหมู่ที่ตกต่ำใน 2 ไตรมาสก่อนที่ได้เห็นราคาอ่อนตัวลงไป และทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง จากผลของการปรับลดปริมาณการผลิตต่างๆ ของอุตสาหกรรม แต่ขณะนี้เริ่มมีแนวโน้มที่เป็นบวกมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม จากการประเมินข้อมูลเบื้องต้นมองว่ากำไรสุทธิในช่วงไตรมาส 4/55 อาจจะยังไม่โดดเด่นมากนัก แต่การพลิกฟื้นของราคาไก่และหมูจะเริ่มแสดงให้เห็นเด่นชัดราวต้นปีหน้า นั่นหมายความว่าในปี 56 ผลประกอบการของ CPF น่าจะกลับมาในทางที่เป็นบวกอีกครั้ง
ด้านนายสิทธิเดช ประเสริฐรุ่งเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรีอยุธยา มองว่า ราคาไก่ที่ฟื้นตัวเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ขณะที่ต่างประเทศยังมีปัญหา Over Supply อยู่ และยังคาดการณ์แนวโน้มได้ยาก จึงยังไม่ได้มีการเปลี่ยนมุมมอง แต่ขณะเดียวกันที่ผ่านมาราคาหุ้น CPF ก็ลงไปค่อนข้างแรงแล้ว จึงแนะ"ซื้อเก็งกำไร"
แม้ว่าในระยะสั้นจะมีข่าวดีจากราคาไก่ฟื้นตัว แต่ระยะกลางยังมองว่ามีความเสี่ยงอยู่ เพราะ Over Supply ของไก่ ไม่ได้เป็นเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่เป็นไปทั่วโลก ขณะเดียวกันต้นทุนวัตถุดิบก็ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอยู่ ไม่สามารถที่จะประเมินได้ว่า CPF จะสามารถควบคุมต้นทุนได้มากน้อยเพียงได บางทีอาจจะปรับเพิ่มขึ้นในอนาคตอีก
ทั้งนี้ ธุรกิจของ CPF กว่า 80% เป็นการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งต้นทุนส่วนใหญ่กว่า 70% คือวัตถุดิบประเภทถั่วเหลือง และข้าวโพด ที่ยังมีแนวโน้มที่จะปรับราคาสูงขึ้น ดังนั้น ราคาหมูและไก่ที่ฟื้นตัวขึ้นหากจะมีข่าวดีก็คงจะมีผลในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เช่น หากกระทรวงพานิชย์ให้ปรับขึ้นราคาอาหารสัตว์ได้ หรือหากสามารถส่งไก่ไปขายในสหภาพยุโรป(EU)เพิ่มขึ้นในปี 56 ก็จะทำให้เป็นปัจจัยบวก แต่ก็ยังจะเป็นเพียงระยะสั้นๆเท่านั้น
"โครงสร้างสินค้าของบริษัทเป็น Commodity จะผันผวนตามราคาผลิตภัณฑ์เสมอ เพราะฉะนั้นระยะยาวจะไม่สามารถปรับราคาได้เหมือนผลิตภัณฑ์อาหารจริง อย่างกรณี TUF เป็นอาหารจริงๆ จะเห็นได้ว่าสามารถปรับราคาผลิตภัณฑ์ได้ตลอดตามราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ทำให้ยังไม่สามารถคาดการณ์ทิศทางของ CPF ในระยะยาวได้"นายสิทธิเดช กล่าว
ส่วนนักวิเคราะห์ จาก บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า CPF มีแนวโน้มดี โดยมองว่าปี 56 ผลประกอบการจะกลัมาโตได้ดี จากในส่วนของผลิตภัณฑ์สัตว์บกทั้งหมูและไก่ที่จะเริ่มทยอยฟื้นตัวหลังจากเห็นสัญญานที่ดีตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา และมองว่าปี 56 จะฟื้นตัวตลอดทั้งปี โดยให้ราคาเป้าหมาย 38.38 บาท และยังแนะนำให้"ซื้อ"